
เปิดที่มา พิธีบูชาพระราหู และสัญลักษณ์กะลาตาเดียว ของชาวลาวเวียง วัดศีรษะทอง จากวิกฤตของสังคมครั้งบรรพบุรุษ สู่การเป็นพิธีที่คนรู้จักเป็นวงกว้าง
ยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ สายมูที่เชื่อว่าราหูจะย้ายราศี โดยหนึ่งปีครึ่งย้ายครั้งหนึ่ง และจะกลับมาอยู่ในตำแหน่งราศีเดิมทุก ๆ 18 ปี จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญ ยิ่งโหมโรงการบูชาพระราหูให้คึกคักมาก
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
พระราหูวัดหัวทอง หรือ “วัดศีรษะทอง” อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นที่รู้จักอย่างกว้างของของสายมู เพื่อขอโชคลาภปัดเป่าความมืดมน พิธีกรรมยอดฮิตคือการถวายของดำ 8 อย่าง เช่น ซุปไก่สกัด เหล้าดำ กาแฟดำ เฉาก๊วย ถั่วดำ ข้าวเหนียวดำ ขนมเปียกปูน ไข่เยี่ยวม้า รวมถึงธูปดำ นอกจากนี้ยังนิยมเช่าบูชา “กะลาตาเดียว” พระราหู ของขลังขึ้นชื่อของวัดหัวทองไปด้วย
นอกจากนี้ที่วัดศรีษะทองยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราหูอีกมาก ทั้งการสะเดาะเคราะห์ การสวดนพเคราะห์เสริมดวง หรือการสักยันต์พระราหู ซึ่งเป็นการต่อยอดทางความช่วยให้ครอบคลุมหลายมิติของชีวิต
แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าที่มาของการบูชาพระราหู และการสร้าง “กะลาตาเดียวพระราหู” ในครั้งเริ่มต้นนั้นเกิดจาก “มรสุมชีวิต” ของสังคมชาวลาวเวียงอพยพเมื่อครั้งกรุงธนฯ ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่บ่อนเซาะจิตใจของบรรพบุรุษบ้านศรีษะทอง จึงต้องหาวิธีฟื้นฟูจิตใจชาวบ้านชาวเมืองอีกครั้ง
ล่มเมืองเวียงจันทน์ โศกนาฎกรรมของชาวลาวเวียง
“เอกรินทร์ พึ่งประชา” ได้ทำการศึกษาเรื่องราวของประเพณีพิธีกรรมพระราหูที่วัดศีรษะทอง ได้กล่าวว่า พื้นเพของผู้คนวัดหัวทอง หรือศีรษะทอง เป็นชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนครั้งใหญ่เมื่อครั้งพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพตีเวียงจันทน์ ในช่วง พ.ศ. 2322 ซึ่งครั้งนั้นมีเชลยตายตามเส้นทางอพยพกว่า 2 เท่าของจำนวนที่ลงมาถึงกรุงธนฯ
การอพยพของชาวลาวเกิดขึ้นล่วงหน้าหลายปี นับตั้งแต่การแตกแยกครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2233 เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช สิ้นพระชนม์ ขุนนางและเชื้อพระวงมีการแย่งชิงอำนาจ แพร่กระจายกว้างขวางทั้งแผ่นดิน จากนั้น 8 ปี อาณาจักรล้านช้างของชาวลาวแตกแยกเป็น ยุคล้านช้าง 3 อาณาจักร หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ในช่วง พ.ศ. 2241
ต่อเนื่องมาถึงยุคเจ้าศิริบุญสาร ที่ได้เห็นการแตกแยกครั้งใหญ่ ขุนนาง เช่น เจ้าพระวอ พระตา (พ.ศ. 2303) นำผู้คนอพยพหนีจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา ขอพึ่งใบบุญกรุงเทพฯ ตั้งชุมชนต่างๆ ในภาคอีสานของไทยปัจจุบัน (หนองบัวลำภู ยโสธร อุบลราชธานี)
ความขัดแย้งที่ดำเนินยาวนานทำให้มีการอพยพของผู้คนในอาณาจักรล้านช้างข้ามไปในฝั่งอันนัม หรือ ประเทศเวียดนาม และฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสานของไทย) อยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่อาณาจักรที่ทั้ง 3 รบพุ่งกันมักจะมีการขอความช่วยเหลือไปยังอาณาจักรข้างเคียงทั้งพม่า เวียดนาม และสยาม ทำให้มีการแทรกแซงจากต่างอาณาจักร
ในปี 2322 พระเจ้าตากสินฯ มอบให้เจ้าพระยามหากษัตริศึก (ทองด้วง) นำทัพไปตีเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางซึ่งเป็นคู่อริเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ กล่าวรายงานต่อพระเจ้าตากสินว่าฝ่ายเวียงจันทร์เอาใจเข้าข้างพม่า จึงนำทัพบกจากนครราชสีมา พระยาสุรสีห์ทัพเรือจากเขมร ขึ้นล้อมเวียงจันทน์ และฝ่ายหลวงพระบางได้ทีนำทัพเข้าร่วมฝ่ายกรุงธนฯ กระนาบข้างตีเมืองจนสูญเสียเอกราชให้พระเจ้าตากสินในปีนั้น
เผาเวียงจันทน์ ความไม่มั่นคงทางกายใจ ของชาวศรีษะทอง
หลังเสร็จศึกมีการเทครัว ชาวลาวเวียง ลาวพวน ลาวโซ่ง เข้ามาอยู่ในหัวเมืองชั้นในรอบ ๆ กรุงธนบุรีเพื่อสะดวกในการเรียกใช้เป็นไพร่หลวง เป็นกำลังพล และผลิตเสบียงอาหาร ให้เมืองหลวง ทั้งยังป้องกันไม่ให้ฝ่ายเวียงจันทน์ฟื้นฟูเมืองโดยง่าย
ชาวลาวเวียงที่อพยพครั้งนั้นนับว่ายากลำบาก การเดินทางเต็มไปด้วยความเจ็บป่วยตายตามเส้นทางมากกว่าจำนวนที่ลงมาถึงกรุงธนบุรีถึง 2 เท่า และสภาพความเป็นอยู่ก็ต้องอยู่อย่างกวดขันเข้มงวด เนื่องจากมีการหลบหนีบ่อยครั้ง ทำให้ทางการสยามยิ่งเพิ่มการควบคุม
เชื้อพระวงศ์ ราชบุตร ธิดา ถูกกวาดต้อนมาไว้ในเมืองหลวง ครอบครัวชาวลาวเวียงให้เอาไว้ที่เมืองสระบุรี หัวเมืองตะวันตก และจันทบุรี ส่วนครอบครัวชาวลาวเวียงจำนวนมากถูกกระจายไปตามบ้านข้าราชการและถูกเกณฑ์ไปทำนานที่ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี หรือที่ฟากตะวันตกอย่างนครชัยศรี เพื่อทดแทนแรงงานสยามที่ถูกเกณฑ์ไปรบพม่า และล้านนา ทำให้ขาดแคลนกำลังการผลิตข้าว
ด้วยความที่แรงงานชาวลาวเวียงเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำให้ขุนนางสยามใช้ระบบไพร่-มูลนาย แบบไทยในการปกครองครอบครัวชาวลาวเวียง แต่มีลักษณะการกดขี่ทั้งแรงงานและส่วยอากร ซึ่งในทางปฏิบัติชาวลาวถูกเกณฑ์แรงงานและส่งส่วยมาก และเมื่อว่างจากการส่งส่วยก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธาทำให้ชาวลาวพยายามหลบหนีไปจากกอง และหลีกเลี่ยงการสัก ไม่ไปทำงานตามกำหนดหมายเกณฑ์ของทางราชการ เป็นภาวะการณ์ที่สร้างความกดดันทางจิตใจ อย่างหนึ่งให้กับกลุ่มลาวเวียงในสมัยนั้นก็ว่าได้
ดังนั้นบรรพบุรุษลาวเวียง บ้านศีรษะทอง ที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิด เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ในมณฑลนครชัยศรี ปลายกรุงธนบุรี พื้นที่มีสภาพทางกายภาพเป็นที่ดอนและแล้งน้ำ
อีกทั้งที่ตั้งชุมชนก็แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวซึ่งนั่นหมายถึงการจำกัดโอกาสที่จะได้รับความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยก็ลดน้อยลง เนื่อจากหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรีมักจะอยู่รวมตัวกันอย่างหนาแน่น ดังนั้นการแยกออกไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวจึงค่อนข้างรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ลำบาก
ประกอบกับสภาวการณ์ทางสังคมโดยรวมที่สะสมมาคือ คนลาวก็ตกอยู่กรอบข้อบังคับของระบบไพร่ในสังคมไทยที่มีลักษณะกดดันจิตใจ
โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่สุด คือ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.1-3) คือ สงครามเจ้าอนุวงศ์ (สมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่ถูกเลี้ยงดูในราชสำนักกรุงเทพฯ และเห็นว่าไพร่-ครอบครัวชาวลาวที่อยู่ในสยามเผชิญความลำบากในการใช้แรงงาน เมื่อได้โอกาสในการกลับไปที่เวียงจันทน์ จึงแข็งเมืองและยกทัพกลับเข้ามาเพื่อหวังกวาดต้อนครัวเรือนลาวกลับ
แต่เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้ถูกจับลงมาขังในกรงเหล็กหน้าพระบรมหาราชวังจนเลือดออกหมดตัว จากนั้นตัดหัวเสียบประจาน ทางการสยามพยายามอย่างมากที่จะปราบปรามอาณาจักรล้านช้าง โดยเฉพาะเวียงจันทน์ไม่ให้ฟื้นฟู คือการสั่งเผาเมืองเวียงจันทน์ และกวาดต้อนเชลยข้ามลำน้ำโขงครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมี หวังไม่ให้เวียงจันทน์เป็นเมืองได้อีกเลย
เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจของกลุ่มคนลาวทั้งที่อพยพย้ายถิ่นมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งกลุ่มคนลาวเวียงที่เพิ่งอพยพจากการกวาดต้อนในครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ เมื่อสะสมกับความคับข้องใจในระบบการปกครอง และความแร้นแค้นของพื้นที่ ความระส่ำระสายภายในจิตใจจึงเกิดขึ้นกับบรรพบุรุษของคนลาวเวียงวัดศีรษะทอง
กำเนิดกะลาตาเดียวพระราหู
“เอกรินทร์” กล่าวว่า จากเรื่องราวที่เล่าต่อๆ มา บรรพบุรุษบ้านหัวทองเผชิญกับการขาดน้ำในการเพาะปลูกเนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน ทั้งเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นนั้นเกิดความหวาดผวาทั้งทางสังคมและทางกายภาพ ซึ่งเรียกว่าเป็นปัญหาที่สุดวิกฤตแห่งชีวิต
หลังจากนั้น บรรพบุรุษของชาวลาวเวียงบริเวณนี้ จึงช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านเพื่อหวังจะให้เป็น ศูนย์กลางของหมู่บ้านและที่พึ่งทางใจต่อวิกฤติแห่งชีวิตที่เผชิญอยู่ โดยขุดดินไปพบกับเศียรพระสีทอง ซึ่งเป็นนิมิตรดี ก็เรียกว่า “วัดหัวทอง” แต่นั้นมา
โดยให้ “หลวงพ่อไต” พระภิกษุที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ช่วงแรกเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และประกอบกับท่านมีความแกร่งกล้าในวิทยาอาคม โดยเฉพาะการสร้างกะลาตาเดียวพระราหูที่สืบทอดมาจากตำราใบลานที่นำมาจากเมืองเวียงจันทน์ ท่านจึงนำตำราดังกล่าวมาสร้างเป็นเครื่องรางไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของ ชาวบ้านพร้อมกับให้ความเคารพนับถือจนกลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ทางความเชื่อของชุมชนในเวลาต่อมา
กะลาตาเดียวพระราหู คือ อะไร
“เอกรินทร์” กล่าวด้วยว่า จากประวัติหลวงพ่อไต มักถูกเล่าด้วยเรื่องความแก่กล้าในคาถาอาคมและเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะการสร้างพระราหูอมจันทร์จากกะลามะพร้าวที่ได้จากตำราใบลาน เมืองเวียงจันทน์ โดยตำราฉบับ ระบุว่า เครื่องรางชนิดนี้จะต้องสร้างจาก “กะลาตาเดียว” หรือ “กะลามหาอุตม์” เพียงสอง ประเภทนี้เท่านั้นเพราะคุณลักษณะดังกล่าวถือเป็นของหายากและมีดีอยู่ในตัว”
อีกทั้งตามคติโบราณ คนลาวเวียงศีรษะทองยังเชื่อว่ากะลาตาเดียวเป็นเครื่องรางที่ช่วยป้องกันเสนียดจัญไร และผีสางต่างๆ นอกจากนี้ ยังไปพ้องกันความเชื่อโบราณของคนไทยที่เชื่อกันว่า กะลาตาเดียวนั้นเป็นเครื่องมือ หมอพื้นบ้านสามารถใช้ตัดต้อที่ตา หรือนำไปตักข้าวสารใส่หม้อก็จะทำให้เงินทองภายในบ้านเพิ่มพูน เป็นต้น
“มะพร้าว เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อีกชนิดหนึ่ง ที่ “พระลักษมี” ทรงโปรดมาก ดังนั้นในการทำพิธีกราบไหว้พระลักษมีจำเป็นต้องถวายมะพร้าว แม้กระทั่งในบวงสรวงต่างๆ บางท้องถิ่นยังมีการผ่ามะพร้าวประกอบพิธีทำขวัญนาค มีการนำน้ำมะพร้าวที่บริสุทธิ์ให้นาคดื่ม หรือแม้ในงานศพก้มีการใช้
กะลาตาเดียว จะถูกนำมาแกะสลักโดยพระภิกษุ ให้เป็นรูปพระราหูครึ่งตัวอมจันทร์ และนำไปใช้แขวนคอ หรือตั้งบูชา
ต่อมามีการพัฒนาวิธีการแกะสลักมากขึ้น มีช่างแกะสลักเป็นเรื่องเป็นราว และกลายเป็นวัตถุมงคงที่เป็นงานฝีมือของชุมชนไปในตัว
การพัฒนาทางความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระราหูในวัศรีษะทอง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่กับสถานากรณ์และวิกฤตของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินสนับสนุนวัดในช่วง ร.5 จนวัดต้องหาวิธีสร้างรายได้ วิกฤตเศราบกิจในช่วง ร.7-ร.8 และสงครามโลก จนถึงการเปิดตลาดโลกาภิวัตน์ที่สินค้าท้องถิ่นถูกนำเสนอ และในยุคดิจิทัลปัจจุบันที่การสื่อสารของ “สายมู” แพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้ความเชื่อ ความศรัทธา และพิธีกรรมมีความซับซ้อน หลากเรื่อง หลายราว ตามจำนวนของผู้คนที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย