
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 เมษายน 2561 นายศิริพงษ์ นำภา ป้องกันจังหวัด ตัวแทนฝ่ายปกครอง พร้อมนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการสำนักโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายชาติชาย นาคทิพวรรณ นักวิชาการป่าไม้ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ผู้แทนที่ดิน ธนารักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด และภาคประชาชนจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานชมรมร่มบิน นายบัณรส บัวคลี่ และนายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานภาคประชาสังคม ในฐานะคณะทำงานสำรวจแนวป่าดอยสุเทพ เดินทางเข้าพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บริเวณหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อดูพื้นที่จริงและความเหมาะสมของการสร้าง ‘บ้านพักตุลาการ’ เพื่อเสนอแนวทางต่อ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3
ทั้งนี้มีนายรัตโน มิสานุช ผู้นำชุมชนหมู่บ้านห้วยตึงเฒ่า นำคณะทำงานเข้าสำรวจพื้นที่ ในฐานะผู้อยูในพื้นที่มานานกว่า 30 ปี โดยจุดแรกบริเวณสามแยกต้นสัก ซึ่งจะเห็นความสมบูรณ์ของป่าเต็งรัง และสวนลิ้นจี่ของราษฎรในโครงการบ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า จุดที่สองคือ หลังหมู่บ้านสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสำหรับราษฏรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ภายหลังยุติไปเพราะน้ำจากห้วยชะเยืองไม่เพียงพอ และเป็นจุดที่มองเห็นชัดเจนว่าบ้านพักตุลาการตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สูงกลางผืนป่าดอยสุเทพ และจุดที่สาม บริเวณสันเขื่อนหนองจอก สำนักงานชลประทานเชียงใหม่ที่ 1
ทั้งนี้ในส่วนของบ้านพักตุลาการ หลังอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 นั้น ได้มีการประสานงานขอเข้าพื้นที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ประสานขออนุญาตไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานครแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ คณะทำงานจึงไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้
ทั้งนี้นายรัตโน มิสานุช กล่าวว่า เคยมาเดินหาหลักเขตห้วยตึงเฒ่า แต่หาไม่เจอ ในอดีตเคยมีการปักธงตามต้นไม้ซึ่งเป็นแนวหลังหมู่บ้านสวัสดิการทหารบกแต่ขณะนี้หลักเขตหายไปหมดแล้ว ต่อไปคงจะมีการทำแนวรั้ว ที่ชาวบ้านห่วงใยคือ อันตรายที่อาจจะเกิดจากธรรมชาติทั้งไฟป่าและน้ำหลาก
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ก็จะเห็นชัดเจนว่านี่คือพื้นที่ป่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ทุบไม้รื้อแต่ให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม แต่ผมขอยืนยันว่าเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกลับคืน ไม่ควรมีอะไรเข้ามาอยู่ หรือให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์ เราควรจะรีบทุบและปลูกป่า เพราะขณะนี้มีการถากหน้าดิน น้ำเปลี่ยนทิศ หน้าดินพังทลายหมดแล้ว
“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีมาดูสภาพความเป็นจริง เพราะไม่เหมาะสมที่ประชาชนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ที่กระทบสิ่งแวดล้อม และจะต้องผ่านเข้าประตูศาลอุทธรณ์ ภาค5 เข้าไปทำกิจกรรม ผมว่ามันตลก ที่สำคัญเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพึ่งออกกฎหมายปฏิรูปให้เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ขอให้ป่าคืนมา จะได้ไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะโครงการนี้หากทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมรับรองไม่ได้สร้างแน่ การที่เราออกมาเรียกร้องไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ไม่มีสีไม่มีการเมือง แต่ห่วงผืนป่าที่ถูกทำลายในฐานะประชาชนจริงๆ” นายธีระศักดิ์ กล่าว
ในส่วนของ ร.ท.สุคิด นันตาเวียง นายทหารที่ดิน มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ. ที่เข้าร่วมสำรวจแนวป่า ระบุว่า พื้นที่ป่าดังกล่าวไม่สามารถเดินเข้าไปได้หากไม่ใช้เครื่องมือหนักเข้าไป และที่ผ่านมาก็ไม่เคยเข้าไปรังวัด เพราะพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วย ป.พัน 7
ทั้งนี้คณะทำงานได้มีข้อสรุปว่า เส้นสมมุติที่ใช้ในการพิจารณาที่กำลังมีการศึกษากันอยู่นี้ มีทั้งหมด 3 เส้น หากมองจากด้านหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ขึ้นไป เส้นแรกจะถูกขีดแนวขวางตามแนวเขตป่าเดิม คืนพื้นที่ป่าด้านบนทั้งหมด เหลือเพียงอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้านหน้า และอาคารชุดบางส่วน เส้นที่ 2 เป็นแนวเดียวกับเส้นแรก แต่เว้นอาคารชุดเพิ่มเติมอีก 2 หลัง เพื่อศาลได้ใช้ประโยชน์ และเส้นที่ 3 ตัดบริเวณลำสะพานลำห้วยชะเยือง ที่จะทำให้บ้านพัก 45 หลัง ถูกรื้อถอนทั้งหมด โดยเครือข่ายฯ ขอให้นำประเด็นในเรื่องป่าไม้ ดิน น้ำ และ สภาพสังคมวัฒนธรรม ระบบป้องกันระบบสาธารณูปโภค ระบบนิเวศ มาใช้ในการพิจารณาผลดีผลเสียจากเส้นสมมุติ
“จุดก่อสร้างบ้านพักตุลาการอยู่บนสันเขาพอดี และขณะนี้ถูกปาดออกไป แต่น้ำจะไหลลงบริเวณเดิมมาเจอสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดการระบบสาธารณสุขดีก็ไม่ห่วง แต่หากทำไม่ดีการปล่อยน้ำเสียลงมาจะกระทบกับแหล่งน้ำด้านล่างที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมด” คณะทำงานระบุ
ที่มา มติชนออนไลน์