ฝูงเรือไดหมึกไทย มีมากแค่ไหน ทำไมส่องแสงเขียวสว่างไสวเทียบแสงเหนือ

เรือไดหมึก
ภาพจาก นาซ่า และเฟซบุ๊กแฟนเพจเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เปิดข้อมูล ฝูงเรือไดหมึกไทยมีมากมายแค่ไหน ทำไมส่องแสงสีเขียวสว่างไสวเทียบแสงเหนือ ภาพปรากฏการณ์แสงสีเขียวเหนือท้องทะเลไทยนี้สะท้อนโพซิชั่นผู้ส่งออกหมึกท็อป 5 ของโลก 

แม้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ออกมาชี้แจงแล้วว่า ปรากฎการณ์แสงสีเขียวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นั้นเป็นแสงสะท้อนจากเรือไดหมึก

แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงขนาดของกองเรือไดหมึกจำนวนมากทั้งในฝั่งอันดามันและฝั่งอาวไทยซึ่งแสงไฟจากเรือสว่างไสวจนสามารถมองเห็นได้จากยอดเขาที่ลึกเข้ามาบนแผ่นดินหลายสิบกิโลเมตร

               

กองเรือมากกว่า 2 พันลำ

ตามข้อมูลของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ในปี 2566 จำนวนเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์โดยใช้อุปกรณ์จับหมึกมีจำนวน 2,091 ลำ แบ่งเป็นอวนครอบหมึก 1,542 ลำ, ลอบหมึกสาย 347 ลำ และลอบหมึก 202 ลำ

หากแบ่งตามพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จะมีเรือจับหมึกในฝั่งอ่าวไทย 1,755 ลำ และฝั่งทะเลอันดามัน 336 ลำ

ด้านปริมาณหมึก 4 ชนิด คือ หมึกกล้วย, หมึกกระดอง, หมึกสายและหมึกหอม ที่จับได้นั้นอยู่ที่ระดับมากกว่า 9 หมื่นตันต่อปี โดยปี 2565 จับได้ 9.65 หมื่นตัน ส่วน ปี 2564 จับได้ 9.23 หมื่นตัน

สามารถแบ่งตามแหล่งที่จับได้เป็นมาจากอ่าวไทย 82,014 ตัน และมหาสมุทรอินเดีย 14,452 ตัน

ไทยส่งออกหมึกท็อป 5 ของโลก

ขณะเดียวกันนอกจากการจับแล้ว การขาย แปรรูป รวมไปถึงส่งออกหมึกยังสร้างมูลค่ามหาศาลอีกด้วย โดยข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า การจับปลาหมึกทั้ง 4 สายพันธุ์รวมกันมีมูลค่า 16,912.2 ล้านบาท

ด้านการส่งออก สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2564 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าหมึกและหมึกแปรรูปรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกรองจาก จีน, สเปน, อินเดีย และเปรู ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการส่งออก 339.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.79% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 16,978.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ขณะเดียวกัน ไทยก็เป็นผู้นำเข้าสินค้าหมึกและหมึกแปรรูปอันดับที่ 6 ของโลกด้วยเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 508.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6.34% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าหมึกและหมึกแปรรูปรวมของโลก

สัตว์เศรษฐกิจสำคัญ

สอดคล้องกับ เว็บไซต์ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง กรมประมง ที่ระบุว่า หมึกเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 2 ของไทย โดยเป็นรองเพียงแค่กุ้งเท่านั้น มีญี่ปุ่นเป็นตลาดรับซื้อใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้หมึกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว โดย 80% ของน้ำหนักใช้บริโภค ส่วนที่เหลือสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นแคลเซียม ไคโตซาน ส่วนผสมของยาสีฟัน และเครื่องสำอาง

ทำไมต้องไฟสีเขียว

สำหรับเหตุผลของการใช้ไฟสีเขียวในการจับหมึกนั้น ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ได้โพสอธิบายผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยอ้างอิงงานวิจัยของดร.จรวย ลูกศิษย์ที่คณะประมง สรุปความได้ว่า แม้หมึกจะแยกสีไม่ออก แต่ความสว่างของแสงไฟสามารถล่อให้ทั้งหมึกและสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของหมึกให้เข้ามารวมตัวกันได้

ส่วนการใช้แสงสีเขียวนั้น จากการทดลองของ ดร.จรวย พบว่า หมึกไม่ชอบไฟสีแดง แต่ชอบไฟสีฟ้าที่สุด และชอบสีเขียวกับสีขาวรองลงมา โดยมีสมมติฐานว่าเพราะแสงสีแดงถูกดูดกลืนในน้ำได้เร็วสุด ทำให้ส่องไปได้ไม่ไกลความเข้มแสงก็หมด ชาวประมงจึงเลือกใช้ไฟสีเขียวต่อ ๆ กันมา จนเป็นสีหลักในปัจจุบัน