กรมชลฯ ส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรองรับการทำนาปี 1 พ.ค. 61

ถึงคิวพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทาน ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ให้เริ่มทำนาปีพร้อมกันตั้งแต่ 1 พ.ค. 61 ลดเสี่ยงผลผลิตข้าวเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก หลังประสบความสำเร็จปีที่ผ่านมา

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้วางแผนส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ทุ่งบางระกำที่อยู่ทางตอนบน ตั้งแต่ 1 เม.ย. 61 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมา

โดยในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1.15 ล้านไร่ กรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 61 เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561 ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก

สำหรับ 12 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท- ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง และทุ่งบางกุ่ม ซึ่งใช้น้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก , ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ใช้น้ำที่ส่งผ่านทางแม่น้ำน้อย, ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จะใช้น้ำจากน้ำนอนคลองในพื้นที่

ทั้งนี้ การส่งน้ำให้เกษตรกรได้ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้น นั้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ยังจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณจากการจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมได้อีกด้วย ที่สำคัญหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว สามารถใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการ ตลอดจนเป็นการตัดยอดน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน

นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร มีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง อีกทั้งปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย