“บิ๊กอู๋” ยัน 3 ปี แก้ข้อเรียกร้องผู้ใช้แรงงานสำเร็จ 10 ข้อ

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 1 พฤษภาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าแรงงานถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยผลักดันส่งเสริม พัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานสมควรได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้ดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยรวม 15 แห่ง สหพันธ์แรงงานวิสาหกิจแห่งประเทศไทยและกลุ่มแรงงานนอกระบบเห็นชอบให้นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานฯ เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้

“สำหรับข้อเรียกร้องของแรงงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2558-2560 กระทรวงแรงงานได้เห็นความสำคัญ พร้อมดำเนินการสำเร็จตามข้อเรียกร้องแล้ว 10 ข้อ อาทิ การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118/1 การผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจสร้างระบบธรรมาภิบาลและยุติการแปรรูป ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงแก่ลูกจ้าง การยกเว้นการเก็บภาษี ให้สถานประกอบการปฎิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.11/1 การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นอัตราที่มีการเพิ่มสูงสุดในรอบ 3 ปีเฉลี่ยร้อยละ 5 ในอัตรา 5-22 บาทที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน การสนับสนุนงบประมาณพัฒนาเด็กเล็กปฐมวัย ฯลฯ ส่วนข้อเรียกร้องอื่นที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น กระทรวงแรงงานได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้และทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ได้กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีตามนโยบายรัฐบาล ทั้งในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เร่งรัดแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การแก้ไขปัญหาหลอกลวงแรงงาน การส่งเสริมให้คนพิการเข้าทำงาน การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ยุวแรงงาน แรงงานผู้ต้องขัง การขับเคลื่อนนโยบายเซฟตี้ไทยแลนด์ การผลักดันแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม การยกระดับคุณภาพชีวิตฝีมือแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถแรงงายไทยให้มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างสวัสดิการความมั่นคงที่เป็นธรรม ยกระดับสายด่วน 1506 เป็นนโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการพัฒนาทุกด้านอย่างสมดุลครบทุกมิติ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ด้านนายพนัสกล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย 10 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี 2.ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน 3.ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็น มาตรา 33 และรับบำนาญให้มีสิทธิสมัครมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิการรับเงินบำนาญ 4.ให้ประกันสังคมใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวนเป็นฐานรับบำนาญให้ลูกจ้างที่พ้นจากผู้ประกันตนมาตรา 33 5.ให้รัฐบาลกำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น 6.ให้เร่งออกกฎหมายที่สนับสนุนระบบ ธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรสภาพ 7.ให้ออกกฎหมายคุ้มครอง พัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 8.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 9.ให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา และ 10.ให้รัฐบาลสั่งกระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัดโดยให้นายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะระบบแรงงานสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ที่ลานคนเมืองยังมีกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติที่น่าสนใจ อาทิ การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน บูธนิทรรศการ เล่นเกมตอบปัญหาชิงรางวัล พร้อมรับชมคอนเสิร์ตจากศิลปินแกรมมี่โกลด์ จนถึงเวลา 22.00 น.

 

ที่มา : มติชนออนไลน์