สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลง ทว่าก็ไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากโรคโควิด-19 ยังคงมีอยู่รอบตัว ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยและต่างประเทศ คือสายพันธุ์ JN.1. จากหลักฐานนี้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาลและวัคซีน จึงต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้วัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ รุ่นล่าสุดที่ WHO แนะนำ มีการนำเข้าแล้วในประเทศไทย
ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ นับจากปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 13,000 ล้านโดส ซึ่งมีการติดตามและเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบในแต่ละประเทศ ในปี พ.ศ. 2564 วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 14.4 ล้านคนทั่วโลก
โดยวัคซีนโควิด-19 ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ทั้งนี้ ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ไม่มีผลข้างเคียง นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีระบบการติดตาม เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศ ซึ่งข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทั่วโลกบ่งชี้ว่า ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโควิด-19 พบได้น้อยมาก
แต่จากข่าวการเสียชีวิตหรือการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว จนไม่แน่ใจว่าโรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่มีความรุนแรงและอันตรายแล้วนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงมีประโยชน์และมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ อีกทั้งวัคซีนแท้จริงแล้วมีความปลอดภัยหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้มีคำตอบจากอายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคหัวใจ ระบบประสาทและปอด ที่มาพูดคุยให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในงานเสวนาออนไลน์ผ่าน Facebook Fanpage “ไขปัญหากับอายุรแพทย์” ซึ่งจัดโดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและยังคงมีความสำคัญและแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงหรือกลุ่ม 608 คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงต่อปอดจนอาจเสียชีวิตได้ (สามารถเข้ารับฟังความรู้ดี ๆ ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/DWs8GcBEiBdM9LA2/?mibextid=qi2Omg)
โดยในประเทศไทยมีการใช้วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ไปแล้วเกือบ 50 ล้านโดส พบผู้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 53 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก และยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ทั้งนี้ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจาก mRNA วัคซีนเกิดขึ้นได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อได้รับวัคซีนโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะเกิดได้น้อยมาก
คุณหมอในงานเสวนาให้ความรู้ว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น จากไวรัสตัวอื่น ๆ หรือจากการติดโควิด-19 เอง หรือจากภาวะลองโควิด ที่สำคัญ หากไม่ได้รับวัคซีนนั้นมีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากตัวโรคโควิด-19 ได้มากกว่าเสียอีก ส่วนเรื่องเกี่ยวกับระบบประสาทอย่างโรคหลอดเลือดสมองนั้น ไม่พบอัตราการเพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีน เพราะจำนวนผู้ป่วยก่อนเกิดโรคโควิด-19 และในช่วงที่ประเทศมีการฉีดวัคซีน ไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก WHO ยังระบุด้วยว่า เราสามารถพบอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ได้เหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราว เช่น การปวดบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาการข้างเคียงที่รุนแรงพบได้น้อยมาก แต่หากมีอาการมากขึ้นและไม่หายไปภายใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์ด่วน
สำหรับในประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราวสัปดาห์ละ 446 คน หรือประมาณ 64 คน/วัน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3 คนต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ย 1 คน/วัน (ข้อมูลอ้างอิง ระหว่างวันที่ 3-9 มี.ค. 2567) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยปอดอักเสบ 288 คน และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 111 คน (ข้อมูลวันที่ 23 ก.พ. 2567)
อ้างอิงข้อมูล
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (https://www.facebook.com/informationcovid19)
ไขปัญหากับอายุรแพทย์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/share/v/DWs8GcBEiBdM9LA2/?mibextid=qi2Omg)
กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/?dashboard=main)