“บิ๊กตู่” ลงพื้นที่นครพนมตรวจชลประทาน กำชับเร่งระบายน้ำ อ้อนส่งท้าย “ขอให้รักจริง”

นายกตู่ ควง มท.1 รมว.เกษตร และคณะ รุดตรวจชลประทาน จุดระบายน้ำก่ำลงน้ำโขง กำชับเร่งระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมภายใน 5 วัน อ้อนส่งท้ายขอให้รักจริง แถมท้ายร่วมรำเพลงมาร์ท นครพนม ก่อนบินกลับ ผอ.ชลประทาน ขานรับมั่นใจน้ำลด หากฝนไม่ตกซ้ำ ชี้ปัจจัยน้ำท่วมหนักรอบ 50 ปี มาจากปริมาณน้ำฝนสูงผิดปกติ รวมถึงสภาพแวดล้อมลำน้ำเปลี่ยนแปลง ตั้งเป้าจัดงบ 200 ล้าน พัฒนา ขยายลำน้ำก่ำ แก้ปัญหาระยะยาว

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประตูระบายน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ประตูระบายน้ำ ธรนิศนฤมิต ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชการที่ 9 อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และคณะจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามปัญหาน้ำท่วม หลังจากภาคเช้าเดินทางไปตรวจเยี่ยมที่ จ.สกลนคร จากนั้นได้นั่งเฮลิคอปเตอร์บินตรงมายัง ที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประตูระบายน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อตรวจเยี่ยมติด

ตามการระบายน้ำ จากลำน้ำก่ำที่รองรับน้ำมาจากหนองหาร จ.สกลนคร เป็นระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร เนื่องจากเกิด ปัญหาน้ำเอ่อท่วม และกระทบมายังพื้นที่ จ.นครพนม โดยเฉพาะพื้นที่ อ.นาแก อ.วังยาง อ.เรณูนคร อ.นาหว้า และ อ.ศรีสงคราม ที่ติดกับลำน้ำสาขา ไหลระบายลงสู่น้ำโขง

ในส่วนของ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประตูระบายน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ประตูระบายน้ำ ธรนิศนฤมิต ถือเป็นจุดสำคัญที่รองรับน้ำ จุดสุดท้าย ก่อนไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานชลประทาน ตรวจสอบวางแผน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ให้ระดับน้ำลดเร็วที่สุดภายในระยะเวลา 10 วัน พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำ เก็บกักน้ำ ให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ไปจนถึงการวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก

ทั้งนี้ได้มีการรับฟังบรรยายสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงเดินตรวจเยี่ยมระบบชลประทานในโครงการ ซึ่งล่าสุดทางด้านชลประทานได้มีการติดตั้งระบบผลักน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำ จากลำน้ำก่ำ ระบายลงสู่แม่น้ำโขง ให้เร็วที่สุด ทำให้ระดับน้ำเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มระดับ โดยมี นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย พล.ต.ดร.อรรถ สิงหัษฐิต ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม นายอติชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น และประชาชน ให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น ซึ่งในช่วงท้ายก่อนเดินทางกลับ ได้ร่วมรำสร้างความสนุกสนาน กับกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในเพลง มาร์ชนครพนม สร้างความประทับใจให้กับ ข้าราชการ ชาวบ้านเป็นอย่างมาก และทางนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวย้ำกับชาวบ้าน ว่า ขอให้รักจริง หลังชาวบ้านได้กล่าวให้กำลังใจ ว่า รักนายกตู่ ในการต้อนรับ

โดยในการลงพื้นที่ ครั้งนี้ ทางด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์ แต่มีการกล่าวพูดคุยกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดูแลแก้ไข เอาใจใส่ปัญหาประชาชนทุกด้าน รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ยืนยันว่า 5 -6 วัน ระดับน้ำที่ท่วมขังจะลดอย่างแน่นอน ส่วนปัจจัย ที่ที่เกิดจากน้ำท่วม ทางนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า มาจากปัญหาของปริมาณน้ำฝน และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องเตรียมวางแผนรับมือแก้ไข รวมถึงการบริหารจัดการน้ำเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง จะต้องดำเนินการไปด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ด้าน นายพิศิษฐ ผลิสินเอี่ยม ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมและบำรุงรักษาน้ำก่ำ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยว่า วันนี้ทางท่านนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะ ได้มาตรวจเยี่ยม พร้อมได้กำชับให้ดูแลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม เนื่องจากมีปัญหา น้ำหนองหาร ไหลลงสู่น้ำโขง ทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมขังในพื้นที่ลุ่ม เนื่องจากมีปริมาณเกินความจุถึงสองเท่า จึงได้กำชับให้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

เบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาทางชลประทานได้ดำเนินการ นำเครื่องผลักดันน้ำมาติดตั้ง บริเวณประตูระบายน้ำก่ำ จำนวน 5 จุด ตลอดแนวลำน้ำก่ำ รวม 26 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ บริเวณประตูระบายน้ำจุดสุดท้าย จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่น้ำโขงให้มากที่สุด จากการตรวจสอบ ปริมาณน้ำในหนองหาน พบว่าเกินความจุประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณเก็บกัก ที่ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตร ส่วนลำน้ำก่ำตลอดแนว มีปริมาณเก็บกัก ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินความจุประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีปริมาณน้ำระบายลงน้ำโขง วันละประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบายลงน้ำโขงได้ประมาณวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าถ้าระบายได้ในระดับนี้ รวมถึงไม่มีพายุฝนตกมาซ้ำอีก มั่นใจว่า ประมาณ 5-6 วัน ระดับน้ำจะลดลงอย่างแน่นอน

นายพิศิษฐ ผลิสินเอี่ยม กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัจจัยที่เกิดน้ำท่วม ขังครั้งนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบกว่า 50 ปี มาจากสาเหตุปริมาณน้ำฝนเป็นหลักที่มีปริมาณมาก แบบไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสภาพลำน้ำก่ำ ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การไหลระบายน้ำช้า และมีการทะลักท่วมพื้นที่การเกษตร ดั้งนั้นทางชลประทานได้มีการวางแผนไว้ 2 รูปแบบ คือ ระยะสั้น คือ ส่วนระยะยาว คือ การวางแผนจัดสรรงบประมาณ คาดว่าต้องใช้เงินประมาณ 200 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาปรับปรุงพนังกั้นน้ำ ขยายที่เก็บกักน้ำ ตามลำน้ำก่ำ ที่มีปัญหา เพราะบางจุดเป็นสภาพแบบฟันหรอ ทำให้เกิดปัญหาน้ำทะลักท่วม ทิศทางน้ำเปลี่ยน โดยทางชลประทานจะได้เร่งแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก ไม่ให้ได้รับผลกระทบ กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์