ฟ้องลูกหนี้เบี้ยวคืนเงินกยศ.-กรอ. 1.1 ล้านคน ค้างจ่ายกว่า 68 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประกาศหักหนี้เงินกองทุน กยศ.โดยใช้ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการอื่นๆ โดยเริ่มนำร่องจากข้าราชการ “กรมบัญชีกลาง” เป็นหน่วยงานแรก จากนั้นจะทยอยหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันข้าราชการทั่วประเทศมี 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ กยศ.ถึง 2 แสนคน ว่า สาเหตุที่กองทุน กยศ.นำร่องหักหนี้เงินกองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนของพนักงานกรมบัญชีกลางเป็นที่แรกนั้น เนื่องจากกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ จึงได้รับเลือกให้เป็นหน่วยงานนำร่องของกยศ.

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กยศ.ได้หักหนี้กองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนของบุคลากรในหน่วยงานอื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัย แต่จะเป็นการหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนโดยความสมัครใจของผู้กู้ยืม แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประกาศหักหนี้ตาม พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.และการชำระหนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539-2560 มีนักเรียน นักศึกษา ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุนไปแล้ว 5.4 ล้านราย เป็นผู้กู้ยืมจากกองทุน กยศ.จำนวน 4.9 ล้านราย และผู้กู้ยืมจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จำนวน 4.9 แสนราย รวมวงเงินที่ให้กู้ยืมทั้ง 2 กองทุน มีมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีผู้กู้ที่ค้างชำระจำนวน 68,307,000,000 ล้านบาท

“สถานะผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ.ในขณะนี้ ประกอบด้วย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 65 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,540,812 ราย อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 19 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,060,741 ราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 15 เปอร์เซ็นต์หรือ 793,906 ราย และเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 52,638 ราย” นายชัยณรงค์ กล่าว

ผู้จัดการกองทุนฯ กยศ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ แบ่งเป็นผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ 61 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,174,205 ราย และผู้กู้ยืมชำระปกติ เพียง 39 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,366,607 ราย โดยมีผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2547-2560 รวม 1.1 ล้านราย จากกองทุน กยศ. 1 ล้านราย และกองทุน กรอ. 1 แสนราย

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์