
AI ไม่ปลอดภัย ! เวที “เสวนาเสรีภาพสื่อยุค AI” ชี้ภัยเงียบหลอกให้เชื่อ ทั้งภาพ-เสียง เผย The World Economic Forum ชี้อีก 2 ปี “ข่าวไม่จริง” ขึ้นแท่นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก เผยมี AI ควบคุมมานานแล้วในระบบไซเบอร์ แต่ปัจจุบันมีกระบวนการพัฒนามากกว่าเดิม หนุนสื่อฯ สร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ UNESCO และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ที่กรุงเทพฯ จัดงานเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพสื่อในยุค AI” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้เป็นวันที่กระตุ้นให้ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน
สำหรับวิทยากรผู้บรรยายในครั้งนี้ ประกอบด้วย พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นายชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กกรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนางสาวกนกวรรณ เกิดผลานันท์ หัวหน้าข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ChatGPT เติบโตเร็ว
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ของสื่อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก อย่าง ChatGPT ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าโซเชียลมีเดีย ทำให้วิถีการทำงานของสื่อเปลี่ยนแปลง โดยมีตัวแปลสำคัญอย่าง AI หรืออัลกอริทึมที่เข้ามาก็เป็นโครงสร้างพื้นที่แบบใหม่เข้ามาในระบบนิเวศของสื่อ
“ในปี 2022-2024 AI เข้ามามีบทบาทอย่างไร ผมจะใช้คำว่า AI Journalist 101 หรือเรียกว่า วารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ 101 เข้ามามีบทบาทใน 7 บริบท ประกอบด้วย 1.Data Gathering หรือการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร 2.News-Script Writing หรือการเขียนสคริปต์ข่าว 3.Fact-Checking หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4.Audience Engagement หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชมมากยิ่งขึ้นทุกวัย 5.Automated Translation หรือการแปลอัตโนมัติ 6.Personalized News-Content-Ads Delivery หรือข่าวส่วนบุคคล เนื้อหา การแสดงโฆษณา และ 7.Automated Video-Audio Production & Editing หรือวิดีโออัตโนมัติ การผลิต และการตัดต่อเสียง”
ใช้ AI ช่วยทำงาน
ดร.สิขเรศกล่าวว่า เราคงตื่นเต้นกับข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่มีการประกาศเลย์ออฟพนักงานลง เพื่อทดแทนด้วยระบบ AI นอกจากนี้ AI ยังเข้ามามีบทบาทในการพากษ์เสียงไฮไลต์ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน หรือการจัดรายการวิทยุก็มีการใช้ AI เข้ามาร่วม ไม่ใช่แค่นั้น แต่ในฝั่งฮอลลีวูดพบว่ามีการประท้วงมาแล้ว เพราะจะมีการใช้ AI มาสร้างเป็นนักแสดงหรือตัวประกอบอันใกล้นี้
“แม้กระทั่ง Deep Fake ก็มี AI มีส่วนเข้ามา และมีคนที่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงและนำไปแชร์ต่อไป ที่ผ่านมาผมเคยไปดูงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีการใช้ AI เข้ามาตัดต่อ หรือจำลองภาพวงเกิร์ลกรุ๊ปเข้ามาได้สบาย รวมถึงในสตูดิโอก็มีการสั่งการทำงานของกล้องด้วย AI หรือในวงการผู้ประกาศข่าวมีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2018-2019 แล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ประกาศยุคนี้ไม่ใช่แค่ตัวอวตารที่อยู่ในจอเท่านั้น แต่สามารถสร้าง AI อวตารที่มนุษย์สามารถตอบโต้กับ AI ตัวนั้นได้” ดร.สิขเรศกล่าว
สื่อไทยขยับใช้ AI
ดร.สิขเรศกล่าวอีกว่า ในวงการข่าวของไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็มีการประกาศวิสัยทัศน์ไปแล้วในการทดลองใช้ AI รวมถึงสถานี mono29 หรือ Nation tv ที่ใช้ AI เป็นผู้ประกาศ แต่สิ่งสำคัญเชื่อว่าอาจมีการใช้ AI ในภาคการเมืองเกิดขึ้นในการเลือก สว. เพื่อผลิตผลงานในการหาเสียง
นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาที่จะเห็นว่าทั่วโลกจะมีแนวโน้ม 2 ประการ 1.สื่อมวลชนมีการร่วมมือกับบริษัท AI อย่างเปิดเผย เช่น AP หรือ 2.ตั้งหน่วยงานของตัวเองขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบ AI เช่น นิวยอร์กไทม์ ทำให้โจทย์สำคัญหลังจากนี้ จะทำให้การกำกับดูแลมีความสำคัญอย่างไร เพราะมีการใช้ AI สร้างภาพปลอมขึ้นมา และมีคนที่พร้อมจะเชื่อข้อมูลส่วนนี้เช่นกัน
“เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่ออยู่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ ที่เทคโนโลยี AI เข้ามา ทำให้ผู้ควบคุมก็มีส่วนสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่สุดท้ายเราจะมีวิธีการควบคุมอย่างไรเท่านั้น” ดร.สิขเรศกล่าว
ดร.สิขเรศกล่าวด้วยว่า ในแวดวงสื่อมวลชนยังเชื่อมั่นในสมาคมสื่อฯ ที่ต้องออกแนวปฏิบัติของตัวเองขึ้น อาจจะเริ่มต้นแนวปฏิบัติ 4-5 ข้อ เพื่อตรวจสอบข้อมูล หรือการใช้ AI รวมถึงการเขียนที่มาของงานชิ้นนั้นว่ามาจาก AI หรือไม่ นอกจากนี้ อาจจะมีร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต AI ในการพัฒนา AI ไปด้วยกัน
จับตา AI ปัญหาใหญ่ของโลก
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริงถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลกนี้ โดย The World Economic Forum มองว่าอีก 2 ปีปัญหานี้จะขึ้นเป็นอันดับต้นของโลก นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อน หรือโรคอุบัติใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มี AI ควบคุมมานานแล้วในระบบไซเบอร์ แต่ในปีนี้มีกระบวนการพัฒนามากกว่าเดิม อาทิ Deepfake ที่มีภาพและเสียงแบบเรียลไทม์ แต่ต่อไปเชื่อว่าจะมี AI เป็นหน้า เสียง และสามารถคุยกับเราได้ด้วย
“เมื่อมีปัญหาขึ้นมาทำให้คนจะมองได้ 2 แบบ 1.เป็นพัฒนาการโดยให้คนตัดสินใจเอง หรือ 2.ต้องเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าจะมองฝั่งไหน ทั้งในเรื่องเสรีภาพการนำเสนอ หรือเสรีภาพในการเลือกจะเชื่อสื่งเหล่านี้ ส่วนอีกด้านก็สนับสนุนให้ต้องมีการรควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้” พล.อ.ต.อมรกล่าว
หนุนสื่อฯช่วยตรวจสอบข้อมูล
พล.อ.ต.อมรกล่าวว่า ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนถือว่ามีความสำคัญจะบอกว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่จริง แต่ที่น่ากลัวคือการนำความจริงมาปะปน หรือการเล่าไม่หมดที่จะมาในแนวทางของ Clickbait ซึ่งอัลกอริทึ่มจะชอบที่มีคนมาคอมเมนต์ หรือกดไลก์เยอะ ๆ ซึ่งเป็นใครที่สามารถทำแบบนี้ได้ เพื่อล่อให้คนมาคอมเมนต์ ซึ่งในเรื่องนี้สื่อมวลชนต้องคอยตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชนว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่
“อยากให้มีเสรีภาพในการเชื่อให้เหมาะสม และอยากให้มีเสรีภาพทางความคิดว่าสิ่งนั้นใช่หรือไม่ นอกจากนี้ AI เหมือนจะมาเปลี่ยนแปลงโลก จากเดิมที่มีหนังสือพิมพ์น้อยลงตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นสื่อไทยเตรียมตัวแค่ไหน ก็คลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา เพราะต้องรู้อย่างสนิทไม่ใช่ผิวเผิน เพื่อให้เรารู้จัก AI อย่างเข้าใจ” พล.อ.ต.อมรกล่าว
พล.อ.ต.อมรกล่าวอีกว่า มนุษย์ต้องตรวจสอบ AI ในฐานะเครื่องมือ เมื่อนำ AI ไปใช่ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามไปสื่อด้วย เพราะต่อไปจะพบปัญหาถูกหลอกจากเนื้อหา ภาพเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้ประกาศจะตกงานก็คิดว่าไม่มีทาง เนื่องจากไม่มีอะไรทดแทนมนุษย์ได้ในการอ่านข่าวได้อารมณ์ เพราะ AI คาดจินตนาการ
AI ไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
เช่นเดียวกับนายชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่กล่าวว่าทุกวันนี้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากในการให้ความรู้กับประชาชน เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มแยกแยะข้อมูลไม่ออกว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่จริง ทำให้สื่อมวลชนจะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ เพราะทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อฯได้ หรือทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันให้ความรู้ประชาชนตรงนี้
เพราะการที่ AI สร้างข้อมูลออกมาได้ ก็ต้องให้สื่อมวลชนเพิ่มกลไกในการตรวจสอบความถูกต้องตามไปด้วย นอกจากนี้ จะต้องมีการขอความร่วมมือหรือไม่กับคนที่สร้าง AI หรือนำ AI ไปใช้ โดยศึกษาจากกรณีในต่างประเทศอย่างยุโรป เพราะอย่างไร AI ก็ไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
นายชัชวาลกล่าวด้วยว่า ทุกวงการจะมี AI เข้ามามีบทบาทด้านใดด้านหนึ่ง ทุกวงการจะต้องมีการพูดคุยว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อการใช้งาน AI เพราะถือว่า AI มีผลกระทบทางบวกและทางลบมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอย่าไปไว้ใจหรือวางใจ AI 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันจะเขียนร้อยเรียงข้อความให้เราประทับใจ แต่มันอาจจะใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องไปด้วยได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะใช้งานก็ต้องตรวจสอบเรื่องพวกนี้ด้วย
เทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
นางสาวกนกวรรณ เกิดผลานันท์ หัวหน้าข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจกล่าวว่า เรื่อง AI คนรุ่นใหม่จะเข้าใจได้อย่างดี เพราะสามารถใช้ AI ช่วยได้อย่างเช่น เขียน Resume ใน Gemini นอกจากนี้ ในหลายสื่อต่างประเทศก็มีการใช้ AI สรุปบทความเป็น Bullet Point รวมถึงการใช้ AI เปลี่ยนเสียงเป็นข้อความ
ซึ่งนักข่าวจะใช้เวลานานในการแปล ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสื่อต่างชาติชาวมาเลเซียเขาก็บอกว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมี AI ที่ชื่อว่า Foiabot ซึ่งจะช่วยเขียนคำฟ้องและสามารถเข้าใจกฎหมายได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง และ AI ยังสามารถเปลี่ยน Text เป็น Data ได้ ซึ่งเหมาะกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวน
“ในอนาคตสื่อมวลจะใช้ AI อย่างไร อย่างเนชั่นกรุ๊ปก็มีผู้ประกาศ AI ผู้หญิงออกมาแล้วชื่อว่าณัชชา และต่อไปจะมีผู้ประกาศผู้ชายออกมา รวมถึงในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจก็สามารถแปลข่าว 3 ภาษาแล้ว คือภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ถึงอาจจะมีการแปลภาษาไม่ตรงบ้าง แต่เรื่องเทคโนโลยียังต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ในฐานะการมีกองบรรณาธิการยังเชื่อว่ายิ่ง AI ก้าวหน้ามากเท่าไหร่ ต้องเน้นความเป็นมนุษย์ในการตรวจสอบความถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น” นางสาวกนกวรรณกล่าว