วิจัยชี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำเครื่องบินเจอหลุมอากาศบ่อย-หนักขึ้น

เครื่องบิน_005

งานวิจัยชี้ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เครื่องบินต้องเจอกับหลุมอากาศบ่อยและหนักขึ้น แม้อากาศจะปลอดโปร่งก็ตาม

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 การตกหลุมอากาศทั้งแบบเล็กน้อยและรุนแรงอย่างเหตุการณ์ตกหลุมอากาศของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ 321 จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายรายนั้น อาจมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า ด้วยผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เส้นทางบินทั่วโลกเกิดภาวะอากาศแปรปรวนขณะอากาศแจ่มใส (Clear-Air Turbulence-CAT) และเกิดหลุมอากาศบ่อยขึ้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของบรรยากาศที่สูงขึ้น

เหตุอากาศแปรปรวนพุ่งต่อเนื่อง 40 ปี

หนึ่งในนั้นคือ งานวิจัย ของนักอุตุนิยมวิทยา จากมหาวิทยาลัย Reading ประเทศอังกฤษซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters พบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (1979-2020) การเกิดภาวะอากาศแปรปรวนขณะอากาศแจ่มใส (Clear-Air Turbulence-CAT) ในเส้นทางบินมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความแปรปรวนระดับรุนแรงปานกลางและรุนแรงมากนั้น เกิดบ่อยกว่าความรุนแรงต่ำอย่างชัดเจน

โดยระยะเวลาเกิดความแปรปรวนระดับรุนแรงมากเพิ่มขึ้นถึง 55% จาก 17.7 เป็น 27.4 ชั่วโมง ส่วนความรุนแรงปานกลางเพิ่มขึ้น 37% จาก 70 เป็น 96.1 ชั่วโมง ขณะที่ความรุนแรงต่ำเพิ่มขึ้น 17% หรือจาก 466.5 เป็น 546.8 ชั่วโมง

นอกจากเส้นทางบินมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ เส้นทางบินอื่นที่เกิดภาวะอากาศแปรปรวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันนี้ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ

Advertisment

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพิ่มการเกิดอากาศแปรปรวน

สอดคล้องกับงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปี 2017 ระบุว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอากาศแปรปรวนขณะอากาศแจ่มใส (CAT) มากขึ้น

โดยจากการทำแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่าเส้นทางบินทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะอากาศแปรปรวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบางพื้นที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ภายในปี 2050-2080 ส่วนระดับความสูงได้รับผลกระทบหนักจะอยู่ที่ 39,000 ฟุต

Advertisment

ส่วนงานวิจัย ที่ติดพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นสร้างกระแสลมเฉือนแนวตั้ง (Vertical Wind Shear) ภายในกระแสลม Jet Stream ซึ่งเป็นกระแสลมสำคัญที่อุตสาหกรรมการบินใช้งาน

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat อธิบายสาเหตุที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น โดยระบุว่า

อุณหภูมิของบรรยากาศโลกที่สูงขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความผิดปกติให้กระแสลม Jet Stream ซึ่งเป็นกระแสลมที่เครื่องบินโดยสารมักใช้เพิ่มความเร็ว เพื่อประหยัดน้ำมันและลดระยะเวลาเดินทาง

โดยอุณหภูมิที่สูงทำให้กระแสลม Jet Stream บางช่วงมีความเร็วและความหนาแน่นลดลง จนเกิดเป็น “หลุมอากาศ” และภาวะอากาศแปรปรวนในขณะที่อากาศปลอดโปร่ง (Clear Air Turbulance) บ่อยขึ้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังชี้ว่าอัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในปี 2050 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40% ด้วย