ศิลปินบุกทำเนียบฯวันนี้ ร้องนายกฯ ช่วย “หอศิลป์” จากกทม.

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าว กรณีที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะดึงเอาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ “หอศิลป์”กลับไปให้กทม.บริหารนั้น ตนไม่คิดว่ากทม.จะมีความสามารถในการบริหารหอศิลป์ได้ สาเหตุที่หอศิลป์เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะบริหารงานเป็นเอกเทศจากระบบราชการ “หากการบริหารหอศิลป์ถูกแทรกแซง เช่น ผู้มีอำนาจสั่งว่าเสาร์อาทิตย์นี้ต้องให้คนนั้นคนนี้มาแสดงน่ะ อย่างนี้เจ๊งแน่ เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้หอศิลป์กทม.เติบโตจนได้มาตรฐานดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีศิลปะและการแสดงหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่ง

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า การจะเอาไปให้ผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรมของกทม.บริหาร ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเขาเติบโตมากับระบบราชการ เขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม และมีความสามารถพอหรือไม่ ที่จะทำให้ประชาชนสนใจและเข้ามาใช้บริการทั้ง 365 วัน และการที่ผู้ว่ากทม.ให้สัมภาษณ์ว่าหอศิลป์ขาดแคลนเก้าอี้จนต้องปล่อยให้นั่งกับพื้นนั้น จริงๆแล้วต้องเข้าใจว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของหอศิลป์ใช้ในการจัดแสดงภาพและนิทรรศการต่างๆซึ่งประชาชนต่างเดินชม แต่หากผู้ว่าฯต้องการที่จะเอาเก้าอี้มาบริจาคก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ออกแบบเก้าอี้ดีๆสำหรับการชมภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่าระยะหลังหอศิลป์ถูกมองว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวและแสดงออกของกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ อาจทำให้ผู้มีอำนาจในประเทศไม่สบายใจ นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสิทธิของมนุษยชาติและสังคมร่วมสมัยที่ต้องการการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช้ความรุนแรงและสนทนากันด้วยเหตุผลโดยพื้นที่ของหอศิลป์เป็นเช่นนี้ มาโดยตลอดเพราะประเทศอยู่ภายใต้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้และสังคมร่วมสมัยต้องเปิดกว้าง

“ผมอยากให้ผู้บริหารประเทศมาเดินดูงานที่หอศิลป์ หรือมาฟังสิ่งที่เขาพูดกันบ้าง เพราะจะได้ประโยชน์กับตัวท่านเอง ซึ่งสามารถเอาไปใช้เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งปัญหาของกทม.ด้วย” นายไกรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายจุมพล อภิสุข ศิลปินผู้ก่อตั้งหอศิลป์ และรักษาการกรรมการมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 10.00 น.กลุ่มศิลปินจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ช่วยบอกกล่าวกับผู้ว่าฯกทม.ว่าอย่ายุ่งกับหอศิลป์เลย ที่สำคัญคือจะแจ้งให้นายกฯทราบด้วยว่า หอศิลป์แห่งนี้มีปฏิญญาความร่วมมือที่เคยลงนามกันไว้ระหว่างศิลปิน-ภาคประชาชนและผู้ว่าฯในอดีต โดยพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ของกทม.อีกต่อไป แต่เป็นของคนทั้งประเทศ การที่กทม.สนับสนุนงบประมาณปีละ 40 ล้านบาทนั้นเป็นคุณูปการให้กับประชาชนมหาศาล แต่กทม.กลับมองไม่เห็น

“ถ้ากทม.จะเอาไปทำเอง กทม.มีปัญญาไปดึงเอาผลงานของมิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ศิลปินชาวอิตาเลี่ยน มาจัดนิทรรศการมั้ย กทม.มีความสามารถที่จะจัดประชุมศิลปินจากทั่วโลกหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารหอศิลป์ที่ผ่านมาเขาทำกันได้ จนทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก”นายจุมพล กล่าว

นายจุมพล กล่าวว่าการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯกทม.อาจเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะที่ระบุว่าหอศิลป์ขาดทุนทุกปี ซึ่งความจริงๆแล้วหอศิลป์ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อค้ากำไรซึ่งประกาศมาตั้งแต่ต้น โดยผู้ว่าฯบอกว่าขาดทุนปีละ 80 ล้านบาทซึ่งคลาดเคลื่อนมากเพราะแต่ละปีกทม.สนับสนุนงบประมาณให้หอศิลป์ปีละ 40 ล้านบาท ส่วนอีก 40 ล้านบาทเป็นรายได้ที่หอศิลป์หาเอาเอง

“ผมไม่ทราบว่าท่านถูกหลอกหรือจงใจสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน ท่านบอกว่าที่นี่ไม่ได้บริการเด็กนักเรียน ผมไม่เคยเห็นท่านผู้ว่าฯเดินมาดูที่หอศิลป์ แต่ทุกๆวันมีนักเรียนเข้ามาใช้บริการไม่ขาด แต่ละปีมีคนเข้ามาเยี่ยมชม 1.7 ล้านคน จะไม่มีเด็กนักเรียนบ้างเชียวหรือ ทุกวันนี้โรงเรียนในสังกัดกทม.ก็มากัน หลายครั้งเราก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมให้ความรู้ถึงในโรงเรียน เพราะหากรอให้มาที่หอศิลป์กันหมดคงรับไม่ไหว ผมไม่อยากให้ท่านพูดลอยๆแบบนักการเมือง”นายจุมพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรที่มีประชาชนจากหลายหลายกลุ่มมาใช้พื้นที่หอศิลป์ในการแสดงออกแง่มุมต่างๆนายจุมพลกล่าวว่า ศิลปะเป็นเรื่องของเสรีภาพ แต่จะปล่อยให้เป็นศิลปะบนผืนผ้าใบอย่างเดียวไม่ได้ และทุกวันนี้หอศิลป์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพแห่งหนึ่ง แต่ถ้ารัฐบาลคิดที่จะปิดพื้นที่นี้อีก แล้วคนที่เขาต้องการแสดงออกต่างออกไปเดินกันบนท้องถนนแทน รัฐบาลต้องการเช่นนั้นหรือ

นายจุมพล กล่าวว่า หอศิลป์แห่งนี้เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของประชาชนและศิลปินตั้งแต่สมัยที่นายพิจิตร รัตกุล เป็นผู้ว่ากทม.และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นที่ปรึกษา โดยมีการจัดระดมทุนในรูปแบบต่างๆเพื่อหาเงินก้นถุงใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งนายพิจิตรได้ยินยอมให้มีการสร้างหอศิลป์ขึ้นโดยใช้พื้นที่สี่แยกปทุมวันซึ่งเป็นห้องสมุดเก่าของกทม.ที่กำลังจะซ่อมแซมโดยได้มีการคัดเลือกแบบ 5 แบบและนำไปแสดงยังจังหวัดต่างๆ

นายจุมพลกล่าวว่า แต่เมื่อนายพิจิตรหมดวาระ และผลการเลือกตั้งนายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นผู้ว่ากทม.โดยนายสมัครประกาศต้องการเปลี่ยนแบบหอศิลป์เป็นอาคารจอดรถ 11 ชั้นโดยมีหอศิลป์อยู่ชั้น 11 ทำให้เหล่าศิลปินไม่พอใจและมีการรณรงค์กันครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จนในที่สุดศาลมีคำสั่งให้กทม.ทำตามแบบเดิมและได้ก่อสร้างเป็นหอศิลป์ในที่สุด

“ระหว่างก่อสร้างเรายังได้ชวนพันธมิตรศิลปินและประชาชนมาร่วมกันลงนามกับผู้ว่ากทม. เพราะเราเห็นว่าการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อยซึ่งอาจส่งผลกระทบกับหอศิลป์แห่งนี้ได้ ในปฏิญญามีเนื้อหาสำคัญระบุถึงการที่กทม.สนับสนุนและส่งเสริมให้มูลนิธิฯเข้ามาบริหารหอศิลป์”นายจุมพล กล่าว

ที่มา:มติชนออนไลน์