ประจวบฯไล่เช็กบิล โรงแรมเถื่อนเกลื่อน

เป็นเวลานานหลายปีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เร่งจัดการปัญหาโรงแรมเถื่อนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยร้องเรียนถึงผู้มีอำนาจในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายของรัฐบาล

แต่การดำเนินงานมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ ทำให้การใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มข้นไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชน ที่ควรได้รั บริการจากโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ

เนื่องจากโรงแรมที่เข้าข่ายได้รับใบอนุญาตถูกต้อง จะต้องเริ่มต้นขออนุญาตก่อสร้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องตามประกาศกฎกระทรวง ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตก่อสร้างเป็นโรงแรม จากนั้นนำใบ อ.1 และ อ.6 จาก อปท.รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปยื่นขออนุญาตที่ที่ทำการปกครองอำเภอ เพื่อตรวจสอบเอกสารในการยื่นอนุญาตให้ครบถ้วน และส่งไปถึงที่ทำการปกครองจังหวัดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานร่วมกันตรวจสอบสถานที่จริงทั้งโครงสร้างอาคาร มาตรฐานความปลอดภัยและด้านอื่น หากไม่พบว่ามีปัญหา ที่ทำการปกครองจังหวัดจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายทะเบียนโรงแรมลงนามออกใบอนุญาตตามขั้นตอน ใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน

ปัจจุบัน นอกจากผู้ประกอบการส่วนหนึ่งนำบ้านพักอาศัยแบบธรรมดา และพูลวิลล่า ห้องเช่าในอพาร์ตเมนต์ หอพัก ห้องชุดในคอนโดมิเนียม เปิดบริการให้เช่าพักรายวันมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม 2547 โดยโฆษณาเชิญชวนให้รับบริการผ่านสังคมโซเชียลและเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในการจองห้องพักระดับโลกแล้ว ล่าสุด พบปัญหาโรงแรมหรู 10 แห่งในเมืองหัวหิน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมระดับนานาชาติ ได้รับใบอนุญาตปลอม จากผลพวงในวงจรการทุจริตเรียกรับประโยชน์จากการวิ่งเต้นซื้อขายใบอนุญาตใบละหลายล้านบาท ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางรายในหน่วยงานของรัฐ

ขณะที่ 10 โรงแรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทั้งหมดมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท ยังเปิดให้บริการลูกค้าตามปกติ โดยไม่มีผลกระทบกับธุรกิจการลงทุน ขณะที่กระแสเรียกร้องจากประชาชนและนักท่องเที่ยวต้องการให้ที่ทำการปกครองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยรายชื่อโรงแรมที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีการต่อใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทุก 5 ปี รวมทั้งรายชื่อ 10 โรงแรมเถื่อนที่ อ.หัวหิน ที่ได้รับใบอนุญาตปลอมในการประกอบกิจการ จากกระบวนการทุจริตด้วยการปลอมแปลงเอกสารหรือใช้เอกสารราชการที่เป็นเท็จ

แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการเสนอข้อมูลตามข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการในโรงแรมที่มีมาตรฐานทั้งจังหวัดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเบื้องต้น ล่าสุด เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ พบรายชื่อโรงแรมหรูที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจังหวัดอีก 20 แห่ง จาก 35 แห่ง โดยไม่มีเอกสาร อ.1 และ อ.6 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเป็นเอกสารสำคัญในการยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนที่กำหนด ขณะนี้แม้ว่าเทศบาลจะมีคำสั่งโดยปิดหมายระงับใช้อาคาร และแจ้งความดำเนินคดี แต่ผู้ประกอบการโรงแรมอ้างว่ามีใบอนุญาตถูกต้อง ยังไม่มีคำสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต จึงสามารถเปิดกิจการห้องพักรายวันได้ตามปกติ ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

รวมทั้งหน่วยงานฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ไม่เคยออกมาชี้แจงว่าการออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตโรงแรมทุก 5 ปี ทั้งที่ผู้ประกอบการยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ใช้ใบอนุญาตปลอม ดำเนินการได้ตามกฎหมายหรือหนังสือสั่งการฉบับใด และจะใช้แนวทางใดในระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตจากการออกใบอนุญาตเถื่อนตามนโยบาย คสช.

พัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า ได้มอบอำนาจให้นายอำเภอหัวหินเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับพนักงานสอบสวน สภ.หัวหิน ในวันที่ 15 พฤษภาคม หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับจังหวัดสรุปรายงานการตรวจสอบพบโรงแรม 10 แห่งในพื้นที่ อ.หัวหิน ใช้ใบอนุญาตปลอมในการประกอบกิจการ เข้าข่ายให้เอกสารของทางราชการเป็นเท็จ จากนั้นนายอำเภอหัวหินจะแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรงแรม 2547 หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนเปิดห้องพักรายวัน จะมีโทษปรับและจำคุก ระหว่างที่ถูกดำเนินคดี ผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย อาจใช้สิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมดำเนินการออกใบอนุญาตปลอม ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย และหากมีความประสงค์จะประกอบกิจการโรงแรม สามารถยื่นเอกสาร เพื่อขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้

หากมีปัญหาไม่สามารถออกใบอนุญาตโรงแรมตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นอาคารที่พักอาศัยได้ตามที่ขออนุญาตก่อสร้างจากองค์กรท้องถิ่น สำหรับข้าราชการฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตปลอม บางรายได้ขอโอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงอื่น จังหวัดจะรายงานให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน หลังจากคณะกรรมการสรุปเสนอตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงและสั่งดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ สำหรับกรณีที่ฝ่ายปกครอง อ.หัวหิน ตรวจสอบ พบโรงแรมอีกหลายแห่งเข้าข่ายมีใบอนุญาตปลอมระหว่างปี 2557-2558

“แต่งตั้ง นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการตรวจสอบโรงแรมทั้งจังหวัดที่ได้รับอนุญาตต้องรายงานข้อมูลการประกอบกิจการ การต่อใบอนุญาต การขออนุญาตใช้อาคาร อาคารควบคุมตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และโรงแรมเถื่อน หากพบมีความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที” ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์แจงถึงการจัดการเรื่องดังกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ได้รับคำสั่งจากส่วนกลางให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณย้อนหลังเพื่อจัดประชุมและสัมมนาในโรงแรมและรีสอร์ต ของหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากมีปัญหาโรงแรมเถื่อนและโรงแรมที่มีใบอนุญาตปลอม และโรงแรมที่เข้าข่ายยื่นเอกสารขออนุญาตไม่ครบถ้วน อยู่ระหว่างการพิจารณาพักและเพิกถอนใบอนุญาต หากพบว่าหน่วยงานรัฐแห่งใดใช้งบประมาณประชุมและสัมมนาในโรงแรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สตง.จะทำหนังสือทักท้วงเพื่อเรียกเงินคืนต่อไป

ขณะที่เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ แนะนำว่า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวหลักทั้งระยะสั้นและระยะยาว กรณีพบโรงแรมผิดกฎหมายที่ อ.หัวหิน และอำเภออื่น ขณะนี้ทราบว่ามี ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ทำธุรกิจโดยสุจริต เรียกร้องให้ที่ทำการปกครองจังหวัด เปิดเผยรายชื่อโรงเเรมเถื่อน เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า ควรมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

“หากมีการเปิดเผยรายชื่อ ททท.จะนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบต่อไป หรือจะมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของจังหวัด เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้เอง นอกจากนั้น ททท.จะนำรายชื่อโรงแรมที่มีปัญหาดังกล่าวไปขึ้นบัญชีดำ โดยเฉพาะโรงแรมผิดกฎหมายระดับ 4-5 ดาว จะไม่ให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกับหน่วยงานของรัฐ” เจ้าหน้าที่ ททท.สรุป

ต้องรอดูว่าจะจัดการกับโรงแรมเถื่อนเหล่านี้อย่างไร

 

ที่มา : นสพ.มติชน