กรมอุตุฯเตือนรับมือ “ฝนตกเพิ่ม-ตกหนัก” 21 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ชี้ 4 ปัจจัยหนุน

ฝนตก
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน

กรมอุตุฯเตือน เตรียมรับมือฝนตกเพิ่มขึ้นและกลับมาตกตามฤดูกาล ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 67 นี้ เป็นต้นไป เหตุมี 4 ปัจจุยหนุน ทั้งมรสุม ร่องมรสุม และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือมีพายุเข้า ระบุชัดช่วง 21-25 มิ.ย.นี้ หลายพื้นที่รวมกทม.และปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ในเพจของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยอธิบายถึงเหตุผลว่า แม้จะเข้าฤดูฝนหรือหน้าฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่ทำไมฝนยังน้อย ทั้งๆที่รอบๆประเทศไทยมีเมฆเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ถูกพัดพาเข้าประเทศไทย ทำให่ฝนบริเวณตอนกลางของประเทศฝนน้อย

กรมอุตุฯอธิบายสาเหตว่า เหตุที่ก่อนหน้านี้มีฝนน้อย เนื่องมาจากความสูงต่ำของภูมิประเทศ แม้ว่าภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20/5/67) เป็นต้นมา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุมประเทศไทย มีกำลังปานกลาง ถึงค่อนข้างแรง พัดสลับกันแต่ส่วนใหญ่กำลังของมรสุมช่วงต้นฤดู มีกำลังค่อนข้างแรง พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันมาปะทะแนวเทือกเขาด้านตะวันตกบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง

ทำให้ฝนส่วนใหญ่ตกด้านหน้าเขาตามแนวชายแดนประเทศเมียนมา ด้านหลังเขาจึงเป็นเขตอับฝน หากมรสุมมีกำลังแรง ก็จะพัดนำเมฆฝนข้ามผ่านไปตกทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน มีบางส่วนที่ปะทะแนวเทิอกเขาเพชรบูรณ์ และแนวเขาใหญ่ ดังนั้นบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล จึงมีฝนตกน้อย

นอกจากนี้ในช่วงเดือน มิ.ย.-ต้น ก.ค.ของทุกปี จะมีภาวะฝนทิ้งช่วงหรือเป็นช่วงที่มีภาวะฝนน้อย เนื่องมาจากในระยะนี้มักจะมีลิ่มความกดอากาศสูงจากซีกโลกใต้แผ่ขึ้นมาสูงและดันร่องมรสุมให้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ทำให้อากาศบริเวณประเทศไทยมีความชื้นน้อยลง โอกาสจะก่อตัวเป็นเมฆและฝน น้อยลงด้วย การกระจายของฝนในระยะนี้จึงไม่สม่ำเสมอ ฝนตกบางจุดบางพื้นที่ บางพื้นที่มีฝนตกหนัก บางพื้นที่ไม่มีฝนตกเลย

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 21 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป ฝนจะเพิ่มขึ้นและเริ่มกลับมาตกตามฤดูกาล โดยมีปัจจัยที่ทำให้ฝนเพิ่มขึ้นคือ มรสุม ร่องมรสุม และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือมีพายุ

ADVERTISMENT
พยากรณ์ฝนสะสมวันที่ 21 มิถุนายน 2567
พยากรณ์ฝนสะสมวันที่ 21 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้กรมอุตุฯคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 19 – 25 มิถุนายน 2567 ว่า ในช่วงวันที่ 19 – 20 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย

ADVERTISMENT

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ปริมาณฝนสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 18 มิถุนายน 2567
ปริมาณฝนสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 18 มิถุนายน 2567

ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดจากฝั่ง

พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 22 มิถุนายน 2567
พยากรณ์ฝนสะสม วันที่ 22 มิถุนายน 2567

คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่างวันที่ 19 – 25 มิ.ย. 2567

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19 – 21 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 37 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19 – 21 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19 – 21 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19 – 20 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 19 – 20 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 19 – 20 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15–30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 – 36 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 19 – 21 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 25 มิ.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส (ออกประกาศ 19 มิถุนายน 2567)

ผู้ต้องขังลอกท่อระบายน้ำในกทม.
ผู้ต้องขังจากโครงการที่ กทม.จ้างกรมราชทัณฑ์เข้ามาทำการลอกท่อระบายน้ำภายในซอยต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการช่วยระบายน้ำท่วมขังหลังจากที่เข้าฤดูฝนแล้ว ขณะที่กรมอุตุฯเตือนจะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น-ตกหนักบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2567 นี้เป็นต้นไป (ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน)