“อดุลย์” ยันไทยตระหนักถึงสิทธิ “แรงงานย้ายถิ่น” ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การโยกย้ายถิ่นฐานไปสู่โอกาสการเอาชนะอุปสรรคด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงานเปิดตัวรายงานของธนาคารโลก (World Bank)” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและทวีความสำคัญมากขึ้นในทุกภูมิภาค จนมีการคาดการณ์ไว้ว่าในศตวรรษที่ 21 จะเกิดปรากฏการณ์การโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในส่วนของประเทศไทย การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไปมาระหว่างประชาชน 2 ประเทศที่พรมแดนติดต่อกัน เช่น ไทย-พม่า ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีปัจจัยมาจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า โดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ตลอดจนปัจจัยด้านความมั่นคงทางการเมือง ระบบสวัสดิการ กฎหมาย และนโยบายทั้งของประเทศต้นทางและประเทศปลายทางต่างก็มีส่วนให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ประเทศไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นกว้าง นอกเหนือจากการดำเนินการในส่วนของภาครัฐแล้ว กระทรวงแรงงานจึงส่งเสริมบทบาทของไตรภาคี ที่องค์กรนายจ้างและลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ตลอดจนการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อาทิ ไอแอลโอ, ไอโอเอ็ม และอียู โดยมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Ship to Shore Rights เพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล เพื่อแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงการสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ โดยกระทรวงแรงงานมีการดำเนินการเพื่อเตรียมการรองรับพิธีสาร 29 ส่วนเสริมอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางานในภาคเกษตร ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล เป็นต้น

“รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้จะช่วยให้มุมมองของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานมีความรอบด้านยิ่งขึ้น และเกิดความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของแรงงานต่างด้าว เพื่อที่จะหันกลับมามองว่า เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องที่ประเทศผู้รับและผู้ส่งแรงงานได้รับประโยชน์
ทั้งสองฝ่าย และประชาคมอาเซียนจะต้องจับมือไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์