“คชก. กทม.” ยุค 5.0 ใช้ดิจิทัลผลักดันการขออนุมัติ EIA โปร่งใส

ต่อศักดิ์ โชติมงคล
ต่อศักดิ์ โชติมงคล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

เป็นครั้งแรกของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ที่มีการโฟกัสปัญหาการขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หลังจากรับมอบภารกิจ โดยต้นสังกัดเจ้าของอำนาจการพิจารณาคือ “สผ.-สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ถ่ายโอนงานมาให้ กทม.เมื่อปี 2559

ทั้งนี้ โครงสร้างการทำงานพิจารณา EIA มีการจัดตั้ง “คชก.-คณะผู้ชำนาญการ” ดังนั้น เมื่อภารกิจมาตกทอดอยู่กับ กทม. จึงมีชื่อเรียกว่า “คชก. กทม.”

โดยมีการเปิดเวทีสัมมนา “ทิศทาง EIA กทม. 2024” ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป้าหมายเพื่อระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนภาครัฐและเอกชน จัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (The Best Available Practice) เพื่อมุ่งหวังสร้างความโปร่งใส รวดเร็ว และเป็นธรรม ในการยื่นขออนุมัติของผู้ประกอบการ และการพิจารณาอนุมัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับสถิติการทำงานช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีโครงการที่เข้าข่ายต้องขออนุมัติ EIA (อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ การจัดสรรที่ดิน สถานพยาบาล โรงแรม คอนโดฯ) ยื่นขอให้พิจารณา 996 เรื่อง อนุมัติแล้ว 687 เรื่อง สัดส่วน 69% ในจำนวนนี้มีการร้องเรียน 113 เรื่อง และมีการฟ้องร้องคดีโครงการที่ได้รับอนุมัติ EIA แล้ว 36 คดีด้วยกัน

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ดังกล่าว เป็นทั้งโอกาสและวิกฤตของผู้ประกอบการที่ลงทุนก่อสร้างโครงการรูปแบบต่าง ๆ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ในประเด็นจะมีเรื่องใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้าง ภายหลังจากงานสัมมนาในครั้งนี้

Q : ทิศทางอีไอเอ จะนำมาสู่อะไรในปี 2024

ADVERTISMENT

สิ่งที่เราวางไว้แล้ว ความจริงเรารอคอนเฟิร์มจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคอนเฟิร์มกับแนวทางที่เราไป ไม่ใช่ กทม.ไปคนเดียว แต่ไปด้วยกันทั้งหมด นี่คือข้อแรก

ข้อที่ 2 สิ่งที่เราแน่ใจก่อนว่ากระบวนการทั้งหมดนี้คือการรวบรวมข้อมูล ไม่มีการรวมข้อมูลอย่างรวมศูนย์ กทม.จะทำหน้าที่เป็นคนรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลเอาไปใช้เป็นกระบวนการ สิ่งที่เราอยากได้ก็คือ Code of Conduct ก็คือแนวทางปฏิบัติที่ดี เราจะเป็นคนรวมให้ แล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องจะมี Code of Conduct เดียวกัน

ADVERTISMENT

โดยที่เรื่องแรกต้องได้ข้อมูลก่อนนะ ข้อมูลมาทำกระบวนการ Code of Conduct Solution แล้วผมดีใจอย่างมากเลย ระบบดิจิทัล โดยเฉพาะ AI (ปัญญาประดิษฐ์) แข็งแรง โตขึ้นทุกวัน เราตั้งงบประมาณปี 2568 เพื่อจะบูรณาการข้อมูลตรงนี้ ใช้เงินไม่เยอะ

ก็จะเป็นฐานข้อมูล แล้วก็ Analyze เป็น Code of Conduct กระบวนการเหล่านี้ให้ปาร์ตี้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้

Q : จะนำสู่ภาคปฏิบัติในปี 2568 แน่นอน

ถูกต้อง ปี 2568 เราคาดว่าพอเราได้งบประมาณปี 2568 ซึ่งใช้เงินไม่เยอะเลย วงเงิน 5-6 ล้านบาท พอทำได้ปั๊บ นำร่องใช้แล้วเราคิดว่ามันเกิดผลดี Q&A ตามต่อด้วย ChatGPT มันจะตอบสนองกระบวนการต่าง ๆ แล้วก็เป็น Manual (คู่มือ) ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องทำเป็นคู่มือ ใช้คู่มือปฏิบัติ เรื่องนี้เป็นหัวใจเลย

พอได้ข้อมูล การบูรณาการภายในของ กทม. เราปรับตัวโครงสร้างขององค์กร ตั้งชื่อเป็น “สำนักงานยั่งยืน” ซึ่งดูแลเรื่องอากาศ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน บวก EIA ด้วย เป็นการยกระดับโครงสร้างผู้พิจารณาเป็นระดับสำนักงาน เพิ่มเติมจากหน่วยงานเดิมที่มี กำลังทำอยู่ และต่อไปจะมีผู้อำนวยการสำนัก จากเดิมโครงสร้างเป็นแค่ระดับส่วน จะยกขึ้นมาเป็นระดับสำนัก

ต่อมา กระบวนการข้างใน คนข้างใน เมื่อก่อนเป็นงานฝาก เราจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ แล้วก็มี In House Consultant ภายใน เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นองค์กรเหมือนกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งท่านเลขาฯ ของคณะทำงานชุดนี้ จะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ นำมาสู่คณะกรรมการ

โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือคณะ คชก. กทม. เนื่องจาก คชก.ใช้เวลามาก ใช้เวลาพิจารณาสัปดาห์ละ 2 วัน ใช้เวลาฟูลไทม์ทั้งวัน เราต้องหาข้าราชการประจำให้ได้ก่อน ซึ่งต้องย่นเวลา (การพิจารณา EIA) และทำงานเต็มเวลา

ต่อไปโครงสร้างที่เราเรียกว่าทีมเลขาฯ (คชก. กทม.) จะต้องทำประเด็นแจกให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน เวลามาประชุมจะได้ประชุมง่าย ใช้เวลาไม่เยอะ (เน้นเสียง) เชิญผู้เกี่ยวข้อง เชิญนักวิชาการอาจารย์ต่าง ๆ นี่คือการบูรณาการภายใน กทม.เอง

แล้วการใช้ข้อมูลก็ไม่ใช่เอาเอกสารมาดู ต้องเป็นจอ ใช้ Notepad แล้วก็ลิงก์ข้อมูลไปตามประเด็น

Q : การทำงานแบบดิจิทัล 5.0

ใช่ ๆ

Q : กทม.จะลดข้อครหา เรื่องความโปร่งใสปี 2568

พอเป็นการทำงานบนดิจิทัล มันโปร่งใสเพราะใครก็เห็น มันง่ายไง ใครก็เห็น ภาพรวมก็เห็น นี่คือกระบวนการภายใน กทม.

ส่วนกระบวนการภายนอก กทม. ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ประกอบการ คอนซัลต์ สมาคมวิชาชีพซึ่งจะต้องกำหนดกระบวนการออกมา

รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิ ผู้รับเหมาก่อสร้าง กระบวนการการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกำกับดูแลตอนที่ก่อสร้าง ตอนก่อนก่อสร้าง

รวมถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการกำกับดูแลส่งรายงานตามกำหนดของ EIA กระบวนการพวกนี้ต้องเป็นดิจิไทซ์ให้หมด โปร่งใส

Q : ที่ปรึกษา EIA บอกว่า มีค่าใช้จ่ายทำสำเนาเดือนละ 3 แสนบาท

ไม่ต้องอีกแล้ว ใช้ไฟล์เดียว เมื่อก่อนส่ง 15 ชุด (สำเนาแจกคณะกรรมการ คชก.) น้ำหนักเอกสารประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไปนี้ไม่ต้องแล้ว เรากำหนดให้ทำสำเนา 2-3 ชุด ที่เหลือทำเป็นดิจิไทซ์ให้หมด

Q : ทำไม กทม.ถึงลงมาทำเรื่อง EIA

ข้อที่ 1 ผมพูดตรง ๆ ตอนก่อนเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ทุกคนพูดเรื่อง EIA กันมาก เพราะมันเป็นจุดที่ทำให้การพัฒนาเมืองล่าช้า แล้วขนาดเศรษฐกิจมันใหญ่มากกว่าที่เราจะมองเป็นจุด ๆ แต่ว่าตอนเข้ามา (ทีมชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17) ผมก็เห็นสำนักงานนี้อยู่กับสำนักงานโยธาธิการ กทม.

กล่าวคือที่ทำงานสำนักงานสิ่งแวดล้อมอยู่ตึกเดียวกันกับสำนักโยธา กว่าจะมารู้ก็ใช้เวลาเป็นปี ก็เลยรีบหารือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม. ว่า เอ๊ะ เราต้องทำอะไรสักอย่าง ก็เลยเป็นที่มาของการมาช่วยกันทำ

การขออนุมัติ EIA ต่อไปทุกอย่างจะถูกกลั่นกรองเร็ว ถูกกลั่นกรองผ่านระบบดิจิไทซ์ มีความโปร่งใส

Q : คชก.พิจารณา EIA มีภาพลักษณ์เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย

คชก. น่าสงสารมาก เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เวลาออกกฎหมายแล้วก็โยนให้เขาทำ (กฎหมายกระจายอำนาจ) ให้อำนาจมาแต่ไม่ให้เงินมาด้วย

Q : EIA เป็นโอกาสหรือเป็นวิกฤตของผู้ประกอบการ ซึ่งเฉพาะคอนโดมิเนียมมีการก่อสร้างมูลค่าปีละ 2.3 แสนล้านในกรุงเทพฯ

มันต้องเปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาส เพราะวิกฤตมันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นเราต้องสร้างโอกาส

Q : จะเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้เมืองน่าอยู่

ใช่ ความหมายคือต้องการทำทุกอย่างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกวัยตามที่ผู้ว่าฯ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) พูดมาตลอด