บริหารข้าราชการ 5 แสนคน ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข แยกจาก ก.พ.

“ตรีชฎา” โชว์ไทม์ไลน์ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เผยสมศักดิ์ ตั้งใจทำให้เสร็จภายในปีนี้ หวังออกจาก ก.พ. เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข คือ การขับเคลื่อนให้มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข สาระของร่าง พ.ร.บ. คือ มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง และค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน โครงสร้างการบริหารงานจะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อสามารถบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น กล่าวโดยสรุป เป็นการแยกตัวออกมาจากการสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า การดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการ สธ. พ.ศ.… เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคณะอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการ สธ. ได้เข้าประชุมร่วมกันโดยมี นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยจะเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม-6 สิงหาคม 2567 จากนั้นวันที่ 10 สิงหาคม 2567 จะสรุปความเห็นจากการรับฟังในแต่ละประเด็น จัดประชุมคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ ได้ร่าง พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบ เปิดเผยสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม

จากนั้นสามารถนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ต่อจากนั้นในเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ รัฐบาลถึงจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ

ADVERTISMENT

“ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้ความสำคัญกับบุคลากรของกระทรวงสาธราณสุขมาก เพราะเป็นบุคลากรที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทดูแลชีวิตประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตอบแทนการทำงานที่ทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างมั่นคง”

“การปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งจะต้องตราเป็นกฎหมายเปรียบเสมือนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กร การออกจาก ก.พ.จะทำให้การบริหารอัตรากำลังที่มีประมาณ 400,000-500,000 คน ที่กระจายอยู่ใน 12 เขตบริการ รวมถึงการจัดการงบประมาณ เกิดความคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการประชาชน โดย สธ. จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ในขั้นตอนของรัฐสภาให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้” น.ส.ตรีชฎา กล่าว

ADVERTISMENT