ผู้บริโภครุกหนักแบน ‘พาราควอต’ ผนึกเอกชนยุติใช้ในห่วงโซ่อาหาร

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดประชุม “ความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต” โดยมีความเห็นร่วมกันว่าต้องยุติการใช้สารกำจัดวัชพืชในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราควอต เพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค พร้อมเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศยกเลิกการใช้พาราควอต

ผศ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการต่างๆ คอบช.สรุปได้ว่า พาราควอตมีอันตรายสูงทั้งต่อตัวผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะจำกัดและควบคุมการใช้สารนี้อย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นร่วมกันที่จะยุติการใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่ง คอบช.จะได้ทำหนังสือไปยังนายกฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตต่อไป

ผศ.ยุพดี กล่าวว่า คอบช.ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหนังสือไปสอบถามบริษัทน้ำตาล 47 บริษัท เรื่องนโยบายในการผลิตน้ำตาลว่า มีการใช้พาราควอตหรือไม่ และมีนโยบายหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้ ได้รับการตอบกลับมา 7 บริษัท มี 3 บริษัท คือ บริษัทมิตรผล จำกัด บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ตอบชัดเจนว่ามีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้พาราควอต ขณะที่อีก 4 บริษัท ตอบมาในลักษณะที่ว่ามีความพร้อมหากจะไม่ใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอ้อย ส่วนอีก 40 บริษัทที่เหลือ คาดว่ายังไม่มีนโยบายยกเลิกการใช้พาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล

นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมฯ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยว่า มีปริมาณการใช้ต่อพื้นที่การเกษตรสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าทุกชนิด แต่ละปีมีการใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดถึง 120 ล้านกิโลกรัม

“จำนวนการใช้มากมายขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมแน่นอน มีทั้งผลกระทบต่อผู้ใช้จนเกิดโรคเนื้อเน่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรโต้แย้งว่า เกิดจากการใช้อย่างผิดวิธี และแนะนำให้สวมชุดป้องกันที่ถูกต้อง แต่คงลืมว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การใส่ชุดป้องกันจึงไม่เกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะพยายามป้องกันอย่างไร แต่การใช้อยู่เป็นประจำก็ไม่มีทางรอดพ้นจากการได้สัมผัสเข้าสู่ร่างกาย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมฯ ขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทางอาหารและเครื่องดื่มออกมาแสดงท่าทีและนโยบายของบริษัทที่จะไม่รับผลผลิตและวัตถุดิบที่ใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการค้า เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม” นายวิเชียรกล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัม (กก.) เมื่อปี 2560 ถือว่าเป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 และนำพบว่าเข้ามากกว่าปี 2559 ที่มีเพียง 31.5 ล้าน กก.

“จำนวนสารเคมีที่มากขนาดนี้ จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ ดังนั้นนอกจากการยุติการใช้แล้ว เราจะร่วมกันเฝ้าระวังการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้งในอาหารและในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากพาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่นๆ” น.ส.สารีกล่าว และว่า คาดหวังว่าการประกาศยุติการใช้พาราควอตโดยเครือข่ายผู้ประกอบการในครั้งนี้จะทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะตัดสินใจง่ายขึ้นในการยกเลิกการใช้ทั้งประเทศ


ที่มา. มติชนออนไลน์