ส่องความคิดเห็นคนดัง ที่มีต่อเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้ง 2 มุม

เงินดิจิทัล 10,000 บาท

ส่องความคิดเห็นคนดัง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย หลังรัฐบาลเตรียมเปิดให้ลงทะเบียน

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงข่าว “ดิจิทัลวอลเลต โครงการเพื่อประชาชนพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง โดยการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งที่ 1

โดยในโครงการนี้ต่างก็มีคนดังแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความคิดเห็นของทั้ง 2 มุม

คำผกา ชี้ ดิจิทัลวอลเลต ไม่ใช่สงเคราะห์คนจน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำ ผกา คอลัมนิสต์และพิธีกรข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า “นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย เป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เป็นทั้งการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ เป็นทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิตอล *ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน*

คำว่า ‘แจกคนบางกลุ่มที่เปราะบาง’ จะเป็นประโยคที่โง่ที่สุด และทำลายนโยบายนี้ ในทางปรัชญาด้วยตัวมันเอง ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่แน่วแน่ใน ‘หัวใจ’ ของนโยบายนี้และหลงทางเสียเอง จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นทางนโยบายเศรษฐกิจทั้งหมดของพรรค”

แขก คำผกา

ADVERTISMENT

รองประธาน ส.อ.ท. หนุนดิจิทัล 1 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท ถือเป็นนโยบาย ที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคของประชาชนที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ ปานกลาง แรงงาน และกลุ่มเปราะบางประเภทต่าง ๆ และคนตกงาน

“เศรษฐกิจในประเทศของเราในวันนี้ ต้องยอมรับว่าฝืดเคืองอย่างยิ่ง เราต้องการการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการใช้พลังบวกลดการโต้ตอบทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้”

ADVERTISMENT

“ฝั่ง Demand ดูจากเปอร์เซ็นต์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงถึง 91% (ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ) ฝั่ง Supply ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากการส่งออกที่ชะลอตัว, สินค้าราคาถูกนำเข้าไร้มาตรฐานแทรกแซงตลาดในประเทศ, ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และล่าสุดการเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างเหตุผลสกัดเงินเฟ้อในอนาคต”

สำหรับทางออกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มการบริโภค จากการเลือกใช้เงิน Digital คือการควบคุมประเภทของการใช้เงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล (สินค้า หรือบริการที่จำเป็นในการครองชีพ) และให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระบบ Block chain ตลอดเวลา 6 เดือนของโครงการ ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เงินหมุนเวียนและ กระจายสู่ท้องถิ่นและ SMEs มากที่สุด และไม่กระจุกตัวในสินค้า และช่องทางการตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่มากเกินไป

ในส่วนของวินัยการคลัง ผลกระทบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ความคุ้มค่าของโครงการนี้ คือสิ่งที่เรา และกูรูทั้งปวงควรต้องช่วยกันเสนอแนะทางออกที่ดี อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทย ไม่ใช่อยู่ภายใต้การสร้างความหวาดกลัวจนเกินจริงหรือไม่

ที่ผ่านมา และจากนี้ไปประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้กูรูทั้งหลายจะได้กรุณาให้ความเห็นต่อการใช้เงินของภาครัฐ ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมนะครับ

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คลังเผย ดิจิทัลวอลเลต สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงโครงการเติมเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบ

สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมนั้น โครงการมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่ พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่าย ระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่

และพายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยออดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทนเพื่อประกอบอาชีพ และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

พิชัย

ศิริกัญญาชี้ วิธีจ่ายยุ่งยาก ชัดแค่เรื่องเดียวคือวันลงทะเบียน

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแถลง “ดิจิทัลวอลเลต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้” มีข้อสังเกตหรือข้อกังวลอะไรบ้างหรือไม่ ว่าจากการติดตาม มีเรื่องใหม่ที่ไม่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน และมีการยืนยันแล้ว มีเพียงแค่เรื่องวันในการลงทะเบียน

นอกจากนั้นแล้วยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เลย แม้จะมีการทวงถามจากสื่อมวลชนแล้วก็ตาม เรื่องแรกที่อยากจะพูดถึง คือเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ภายหลังจากเกิดพายุหมุนดิจิทัลวอลเลตแล้ว เศรษฐกิจจะโตแค่ไหน ซึ่งนายเผ่าภูมิก็ออกมาบอกว่าไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้

เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก แต่จากการที่เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งกระทรวงการคลังได้มีการส่งผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังโครงการดิจิทัลวอลเลตเข้ามาแล้ว

โดยกระทรวงการคลังมีการปรับเป้าหมายจากเดิมที่คาดว่าจะเป็น 1.2% ถึง 1.8% ของจีดีพี เหลือ 0.9% ของจีดีพี ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จีดีพีของ ปี’67 โตประมาณ 0.3% ในปี’68 โตขึ้นอีก 0.3% แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ปี’67 โต 0.3% ปี’68 โต 0.2% รวมตลอดโครงการโตประมาณ 0.9%

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็ออกมาตรงกันว่าไม่สามารถกระตุ้นได้ถึง 1% ของจีดีพี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีการปรับลดตัวเป้าหมาย หรือแหล่งที่มาของเงินกู้ พอกลับไปใช้ในเงินงบประมาณ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้มีมากเท่าที่ควร

ส่วนประเด็นความไม่ชัดเจนของแหล่งที่มาของเงินนั้น ก็มีการถามย้ำว่า การบริหารงบประมาณคืออะไรกันแน่ ทั้งที่มีการบริหารงบฯปี’67 และปี’68 ด้วย แต่นายจุลพันธ์ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจน สำหรับเรื่องปัญหาในข้อกฎหมาย ในส่วนงบฯเพิ่มเติมที่จะต้องใช้ภายในปีงบประมาณ ก็มีการถกกันว่าจะต้องใช้เป็นงบฯรายจ่ายประจำปีทั่วไป กันเงินเอาไว้เบิกเหลื่อมปี ถ้าปี’67 ใช้ไม่หมดได้หรือไม่ ซึ่งตัวแทนจากสำนักงานกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่า สามารถกระทำได้ เนื่องจากได้เกิดนิติสัมพันธ์ ถือว่าผูกพันสัญญาแล้ว

แต่เมื่อ กมธ.ในสัดส่วนพรรคก้าวไกลแย้งไปว่า จะเรียกว่าเป็นสัญญาได้อย่างไร ในเมื่อผูกพันลักษณะการตอบแทน ไม่ใช่สัญญาที่ต้องเซ็นยินยอมทั้งสองฝั่ง ซึ่งก็ไม่มีหน่วยงานใดสามารถตอบได้เลย ว่าเป็นสัญญาประเภทใด เหมือนคิดขึ้นมาใหม่ แบบไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้มาก่อน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อคือ สรุปแล้วจะสามารถใช้เงินข้ามปีได้หรือไม่ หากไม่ได้งบฯเพิ่มเติมที่จะต้องมีการอนุมัติกันในวาระสองและวาระสาม ก็คงต้องใช้ให้หมดภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ หากใช้ไม่ทันก็มีสิทธิที่จะใช้ไม่ได้ข้ามปี และต้องใช้วิธีการอื่นในการทำ

ซึ่งก็มี 2 ทาง คือแจกเลยเป็นเงินสดภายใน 30 กันยายนนี้ โดยที่ระบบยังไม่เสร็จ หรือจะแจกพร้อมกันหมด ก็อาจจะต้องพับเงินก้อนนี้ไป เพราะใช้ไม่ได้แล้ว ต้องหาเงินก้อนอื่น ซึ่งทางปลัดกระทรวงก็ออกมาบอกว่า อาจจะกลับไปใช้มาตรา 28 ก็เป็นได้ เท่ากับว่าทุกอย่างยังคงลื่นไหลไม่นิ่ง ไม่แน่ไม่นอน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึงการถกเถียงกันเรื่องรายจ่ายการลงทุนว่าจะเป็น 80% ได้อย่างไร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็พยายามที่จะอธิบายเต็มที่ว่าเป็นรายจ่ายลงทุนจริง ๆ แต่เท่าที่เราดูแล้ว กลับมาจากสมมุติฐานเสียมาก ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง หรือผลสำรวจแต่อย่างใด หากจะตั้งเป้าหมายแบบนั้นก็เป็นรายจ่ายลงทุนได้อย่างมาก 50% เท่านั้น อย่างไรก็ต้อง ดูเรื่องสัดส่วนอีกทีว่าจะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

น.ส.ศิริกัญญายังกล่าวถึงระบบลงทะเบียนว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากมีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือระบบจ่ายเงินที่มีความซับซ้อนมาก เพราะต้องสร้างกระเป๋าเงินอีกหนึ่งอัน เพื่ออยู่ในแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่าง ๆ แล้วจึงให้เรามาใช้ ซึ่งเราก็ได้ขอดูทีโออาร์ไปแล้ว ว่ามีการกำหนดไว้อย่างไรบ้าง

แต่ปรากฏว่าทีโออาร์ไม่สามารถให้ได้ เพราะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดเลือก ส่วนหนังสือเชิญชวนก็ยังร่างไม่เสร็จ จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จทัน เพราะยังต้องส่งต่อให้กับหน่วยงานอื่นอีก แล้วเงินที่จ่ายไปจะปรากฏอยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลจริงใช่หรือไม่ ไม่มีการตกหล่นหายระหว่างทางใช่หรือไม่

ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระยะเวลากว่าเดือนครึ่งในการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่มีสมาร์ทโฟน อาจจะเป็นเพราะอยากให้คนมีการลงทะเบียนแบบออฟไลน์น้อยที่สุด แต่ก็ยังไม่มีการบอกรายละเอียดการลงทะเบียนแบบที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งก็คิดว่าคงไม่มีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการใช้สมาร์ทโฟน

น.ส.ศิริกัญญาปฏิเสธที่จะให้คะแนนในการแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะรู้มาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีการแบ่งแถลงสามครั้ง ครั้งนี้เป็นการแถลงโดยรัฐมนตรี ซึ่งจะให้นายกรัฐมนตรีมาแถลงภายหลัง เท่ากับว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก แต่มีอะไรที่พูดได้ก็พูดไปก่อน ดังนั้น เมื่อไม่คาดหวัง จึงไม่ผิดหวัง

ผู้ว่าแบงก์ชาติ เตือนจุดเสี่ยง ระบบชำระเงินดิจิทัลวอลเลต

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายถึงประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต แจ้งถึงสาเหตุไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมระบุถึงประเด็นข้อคิดเห็นและข้อกังวล เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการ ดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานพัตนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet (ระบบเติมเงิน) ซึ่งถือเป็นระบบชำระเงินที่พัฒนาและดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้รับการยกเว้นจากการขออนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ดี การที่ระบบเติมเงินจะต้องรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคารและ Nonbank เป็นวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเติมเงินจะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย คณะกรรมการนโยบายฯ ควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย (Confidentiality & Security) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (Integrity) และความมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานได้ต่อเนื่อง (Availability) รวมทั้งมีการบริหารจัดการต้าน IT Governance ตามมาตรฐานสากล

เตือนสารพัดความเสี่ยง-ต้องยึดมาตรฐานสากล

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุว่า ประเด็นที่ควรพิจารณาตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานของระบบเติมเงิน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการ และการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไข การพิสูจน์ตัวตน และความปลอดภัยของระบบ ต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับบริการในภาคการเงิน โดยสามารถป้องกันความเสี่ยงของการถูกสวมรอย หรือใช้เป็นช่องทางการทำทุจริตหรือทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้ และมีศักยภาพสามารถรองรับการลงทะเบียนพร้อมกันของผู้ใช้งานจำนวนมากได้

2.ระบบตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และ Update ยอดเงิน เมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกจาก Digital Wallet (เพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม) ทั้งนี้ ต้องสามารถรองรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาการชำระเงินไม่สำเร็จ หรือเกิดข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว

ต้องมีการทดสอบระบบก่อนใช้จริง ต้องทำอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการพัฒนาระบบชำระเงิน ตั้งแต่ตัวระบบ การทำงานร่วม และเชื่อมต่อกับระบบอื่น ไปจนถึงการใช้งานของประชาชนและร้านค้า เพื่อให้มั่นใจระบบดำเนินการได้ถูกต้อง ปลอดภัย รองรับการใช้งานจำนวนมาก (Load Capacity) ได้ พร้อมทั้งควรมี Call Center หรือช่องทางรับแจ้งปัญหาได้โดยรวดเร็ว และเพียงพอต่อการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากพร้อมกัน โดยสามารถให้คำแนะนำการแก้ปัญหาได้ถูกต้องและมีมาตรฐาน

ขอเร่งส่งพิมพ์เขียวแบงก์-น็อนแบงก์

ประเด็นที่ 3 ที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุคือ การดำเนินการในลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่เชื่อมต่อกับภาคธนาคารและ Nonbank ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง System Architecture ของ Payment Platform (เช่น Technical Specifications, System Requirements, Business Rules) ให้ธนาคารและ Nonbank โดยเร็วที่สุด สำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบกับ Payment Platform ให้ทันตามกำหนด

เนื่องจากการพัฒนา Open Loop ต้องให้เวลาเพียงพอแก่ธนาคารและ Nonbank ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อ 1.ประเมินความเสี่ยงและมีแนวทางปิดความเสี่ยงสำคัญ (เช่น ความเสี่ยงปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านรักษาความปลอดภัย ความเสี่ยงด้านความถูกต้องเชื่อถือได้ และความพร้อมใช้ของระบบ) รวมทั้งประเมินช่องโหว่ และทดสอบการเจาะระบบให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถแก้ไขและป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นก่อนเริ่มใช้งาน

แจ้ง ธปท.ล่วงหน้า 15 วัน

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิระบุว่า ต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มให้บริการ เนื่องจากการเชื่อมต่อ Payment Platform กับโมบาย แอปพลิเคชั่น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบ IT อย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง

โดย ธปท.จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกรณีที่ Open Loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหล หรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ และการขายลดสิทธิ (Discount) ระหว่างประชาชนและร้านค้า

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ