เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ (สบอ.) 12 นครสวรรค์ นำโดย นายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) สบอ.12 นายชำนาญ พูลพังงา ผอ.ส่วนป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า สบอ. 12 นายถิรเดช ปาละสุวรรณ หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง) นายนุวรรต ลีลาพตะ นายนาวี ช้างภิรมย์ นายสธน คงเงิน นายเศวตกุญชร บุญประดับ เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ 136, เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก. ปทส. นำโดย ร.ต.อ.เฉลิมพงศ์ หม้อทอง และเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัด ชป.สห.บก.ควบคุม กกล.รส. นำโดย พ.ท.อณิวัชร์ นิ่มศิริ ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบผู้แจ้งครอบครองงาช้างในเขต ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุดเข้าตรวจสอบ 3 จุดพร้อมกัน ชุดที่ 1 นำโดยนายถิรเดช เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 28 3/8 หมู่ 5 และบ้านเลขที่ 8 หมู่ 7 ต.พยุหะ ของนางวันนา ขะมันจา ชุดที่ 2 นำโดยนายนุวรรต เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ 7 ต.พยุหะ ของนายบุญเสริม พวงสมบัติ ชุดที่ 3 นำโดยนายนาวี เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 229/7 หมู่ 2 ต.พยุหะ ของนายพิเชษฐ์ มารศรี เนื่องจากสืบทราบว่าบุคคลทั้ง 3 มีรายชื่อเป็นผู้รับพัสดุภัณฑ์ที่ส่งโดยบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด จากจ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ จ.นครสวรรค์ ตรวจพบว่าเป็นชิ้นส่วนงาช้างแอฟริกา เนื่องจากบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้แจ้งครอบครองงาช้างไว้กับ สบอ.12 จึงต้องสงสัยว่าบุคคลทั้ง 3 อาจมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาจากต่างประเทศ แล้วนำไปแปรรูปและจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
โดยผลการตรวจสอบปรากฏว่า ทั้ง 3 จุดพบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง 1,748 ชิ้น ตรงตามที่แจ้งครอบครองไว้กับ สบอ. 12 อย่างไรก็ตามคณะเจ้าหน้าพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่างาช้างที่ นายพิเชษฐ์มารศรี นายบุญเสริม พวงสมบัติ และนางวรรณา ขะมันจา ได้แจ้งครอบครองไว้ อาจจะไม่ใช่งาช้างที่ได้มาตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จึงได้ออกคำสั่งอายัดงาช้างของทั้ง 3 ราย ดังกล่าว รวม 1,748 ชิ้น มูลค่ารวม 614,165 บาท ไว้ที่บ้านของผู้ต้องสงสัยให้เก็บรักษาไว้ก่อนเพื่อรอการพิสูจน์ โดยนำใส่บรรจุภัณฑ์ปิดผนึก ลงชื่อกำกับไว้ ห้ามเคลื่อนย้ายสับเปลี่ยน แปรรูป โอนหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากทางราชการ ซึ่ง สบอ. 12 จะได้มีหนังสือมายังบุคคลทั้ง 3 ให้นำเอกสารหลักฐานการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์งาช้าง ไปแสดงเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ หรืออาจจะสั่งให้บุคคลทั้ง 3 พิสูจน์รหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของผลิตภัณฑ์ต่อไป หากไม่สามารถนำมาแสดงได้ ผลิตภัณฑ์ที่อายัดไว้จะต้องตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ. 2558 และหากผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอ พบว่าไม่ใช่งาที่ได้จากสัตว์พาหนะ ตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีผู้มีหาประโยชน์จากการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะงาช้างที่ลักลอบนำเข้าจากแอฟริกาอยู่อีกหลายราย โดยการลักลอบนำผ่านแดนทั้งทางด่านตรวจและช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ เนื่องจากประเทศไทยเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับจากงาช้าง และยังคงมีช่างฝีมือกระจายอยู่ในหลายพื้นที่จำนวนมาก เช่น สุรินทร์ อุทัยธานีและนครสวรรค์ ทำให้ไทยถูกจับตามองจากประเทศภาคีสมาชิกอนุสนธิสัญญาไซเตส และมีความพยายามจากเอ็นจีโอบางกลุ่มที่จะให้ไทยประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องาช้างที่ได้จากช้างบ้านหรือช้างเลี้ยงที่มีผลผลิตงาออกมาทุก ๆ ปี โดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เช่นชุดเหยี่ยวดง ด่านตรวจสัตว์ป่า หรือเจ้าหน้าที่สายตรวจสัตว์ป่า ให้เข้มงวดกวดขันกับการลักลอบค้าหรือครอบครองงาช้างโดยผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น
ที่มา : มติชนออนไลน์