จับตาโรคใหม่ “ไข้โอโรพุช” พบการระบาดครั้งแรกในโลกที่บราซิล อาการคล้ายไข้เลือดออกรุนแรง รายงานเสียชีวิตแล้ว 2 ราย กรมควบคุมโรค-กทม. จับตาการระบาด แม้ยังไม่พบในไทย
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขประเทศบราซิล มีรายงานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พบผู้เสียชีวิตจากโรค “ไข้โอโรพุช” (Oropouche Fever) เป็นครั้งแรกของโลกจำนวน 2 ราย
นพ.โอภาสกล่าวว่า รายงานของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้งสองรายเป็นเพศหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี อาศัยอยู่ที่รัฐบาเอีย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยทั้งคู่มีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ที่มีอาการรุนแรง ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตด้วยโรคไข้โอโรพุชมาก่อน
ทั้งนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ที่สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก และในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบการระบาดในบางประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้
โดยพบมากที่สุดที่ประเทศบราซิลจำนวนรวม 7,236 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567) และยังมีรายงานผู้ป่วยในประเทศโบลิเวีย, เปรู, คิวบา และโคลัมเบียด้วย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในทวีปอื่น ๆ รวมทั้งทวีปเอเชีย
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว และมีประสบการณ์รับมือกับโรคติดต่อจากต่างประเทศมาหลายครั้ง เช่น ฝีดาษวานร โควิด-19 ซึ่งในการระบาดของโรค “ไข้โอโรพุช” ครั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
กทม.จับตาการระบาด ประสานหน่วยงานทราบสถานการณ์
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคไข้โอโรพุชในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้ประสานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เพื่อเตรียมความพร้อมแนวทางและมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกรมควบคุมโรคได้แจ้งกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค และสถานพยาบาลในสังกัดให้ทราบสถานการณ์เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น เป็นความเสี่ยงระดับปานกลาง เนื่องจากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล โอกาสที่จะมีการติดต่อ หรือการแพร่กระจายของโรคมายังประเทศไทยจึงเกิดขึ้นได้น้อย อีกทั้งยังไม่มีการแพร่ได้จากคนสู่คน ต้องอาศัยแมลงเป็นพาหะ หากเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ประเทศไทยได้แล้วจะมีโอกาสแพร่ระบาดและมีโอกาสแพร่กระจายในวงกว้างได้ เนื่องจากมียุงรำคาญเป็นพาหะรอง
โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์โรค รวมทั้งเตรียมพร้อมสถานพยาบาลในการเฝ้าระวัง และรายงานโรค หากพบผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังให้แจ้งสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2203-2891 หรือ E-mail [email protected] ทันที
สำหรับไข้โอโรพุช มีริ้นชนิด Culicoides paraensis เป็นพาหะนำโรค แต่ทั้งริ้นชนิดนี้และเชื้อไวรัสโอโรพุชยังไม่เคยพบในประเทศไทย จึงมีคำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางไปในประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ให้ป้องกันตนเองระหว่างที่เดินทางในต่างประเทศ โดยสวมเสื้อและกางเกงขายาว และทาโลชั่นกันยุงเพื่อป้องกันยุงและริ้น และหากเดินทางกลับมาแล้วมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป