กรมอุตุฯเผยมีพายุก่อตัว 3 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้ง “พายุโซนร้อนมาเรีย” “เซินติญ” และพายุพายุโซนร้อน “อ็อมปึล (AMPIL) เตือนผู้ที่จะไปญี่ปุ่นตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง ขณะที่ไทยยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่ช่วง 14-19 ส.ค.นี้ หนักสุดถึง 80% ของพื้นที่ อิทธิพลจากมรสุมกับมีร่องมรสุมพาดผ่านตอนบน กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 13-22 ส.ค. 67 init. 2024081212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลอง) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : ว่าฝนยังมีเพิ่ม มีลดเป็นช่วงสลับกันไป โดยปัจจัยหลักยังมาจากมรสุม
ส่วนช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. 67 มรสุมจะเริ่มมีกำลังปานกลาง และมีแนวร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำยังปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ตามแนวขอบของไทย (ภาคเหนือ ภาคอีสาน) มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณดังกล่าว
ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานด้านตะวันตก ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) การกระจายของฝนอาจจะยังตกไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงกลางฤดูฝนแล้ว
ขณะที่ช่วงวันที่ 16-22 ส.ค. 67 ทั่วไทยยังมีแนวโน้มของฝนเพิ่มขึ้น แต่ฝนยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ตกหนักยังเน้นทางด้านตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสานและด้านรับมรสุม ยังต้องเฝ้าระวัง ระยะนี้ยังไม่พบสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนใกล้บริเวณประเทศไทย (ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่น ๆ ร่วมด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)
กรมอุตุฯยังรายงานเส้นทางพายุบริเวณมหาสมุทรตะวันตก หรือมหาสมุทรแปซิฟิกว่า มีพายุโซนร้อนก่อตัว 3 ลูก ได้แก่
- พายุโซนร้อน “มาเรีย (MARIA)” (พายุลูกที่ 5)
- พายุโซนร้อน “เซินติญ (SON-TINH)” (พายุลูกที่ 6)
- และพายุดีเปรสชั่น ซึ่งคาดว่าจะแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป
พายุเหล่านี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากอยู่ห่างไกลมาก อาจจะมีผลกระทบกับประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงเตือนผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นในระยะนี้ให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางด้วย
เตือน 14-19 สิงหาคม ฝนตกหนัก
กรมอุตุฯยังคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 13-19 สิงหาคม 2567 ว่า ในช่วงวันที่ 14-19 ส.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ในช่วงวันที่ 15-19 ส.ค. 67 จะมีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมามีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
อนึ่ง พายุโซนร้อน “อ็อมปึล” (AMPIL) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงและพายุไต้ฝุ่นในระยะต่อไป คาดว่าจะเคลื่อนผ่านด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 16-17 ส.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 14-19 ส.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง
คาดหมายอากาศรายภาค 13-19 ส.ค. 2567
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันที่ 13 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาคตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-17 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 14-19 ส.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 13-14 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่
ในช่วงวันที่ 15-19 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 13-14 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่
ในช่วงวันที่ 15-19 ส.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 16-17 ส.ค. 67 อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
(ออกประกาศ 13 สิงหาคม 2567 12.00 น.)