“ดิจิทัลวอลเลต” จะเดินต่อหรือไม่ ? พลิกอ่านมาตรา 9, 80 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง-ดิจิทัล วอลเลต

พลิกอ่านมาตรา 9, มาตรา 80 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ออกในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โครงการ “ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท” จะเดินต่อหรือพอแค่นี้

จนถึงเวลานี้ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ยังจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ยังไม่ชัดเจนจาก รัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร 

ขณะที่มีการลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐไปแล้วมากกว่า 24 ล้านคน

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไปก่อนหน้าเริ่มไม่มั่นใจว่า ข้อมูลที่ตัวเองลงทะเบียนไว้ หากโครงการนี้ต้องยกเลิกหรือชะลอออกไป ข้อมูลส่วนตัวของเขาเหล่านั้นจะปลอดภัยหรือไม่

ส่วนอดีตรัฐมนตรีหลายคนที่คลุกคลีมากับเรื่องนี้โดยตรง ต่างโยนพรรคร่วมรัฐบาลใหม่เป็นคนตัดสิน-ตอบคำถาม ทั้ง ๆ ที่พรรคแกนนำก็พรรคเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็พรรคเดิม ผิดจากท่าทีก่อนหน้าถ้ายื่นไมค์ถามเรื่องดิจิทัลวอลเลต พร้อมตอบทันที

แพทองธาร ชินวัตร

ADVERTISMENT

ขอปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล

ในวันแถลงเปิดใจ 18 สิงหาคม 2567 ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ก็ยังตอบไม่ชัด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเลตจะยังเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งให้ล้มโครงการดังกล่าว

ADVERTISMENT

น.ส.แพทองธารร้องโอ้… ก่อนตอบว่า จริง ๆ นายทักษิณไม่ได้สั่งให้ล้ม เพราะจริง ๆ แล้วนโยบายอะไรก็ตามเราต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

“ความตั้งใจการทำโครงการดิจิทัลวอลเลตคือการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ แน่นอนว่าปีที่แล้วที่เราหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้โครงการดิจิทัลวอลเลตนั้น เป็นโครงการที่เราศึกษาและสังเคราะห์นโยบายมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

แน่นอนว่าต้องอยู่ในกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป แต่รายละเอียดต้องมีความชัดเจน รวมถึงต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้น ความตั้งใจนี้ยังต้องอยู่แน่นอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โผ ครม.แพทองธาร

ข้อกังวลจากแบงก์ชาติ

ต้องไม่ลืมว่า โครงการดิจิทัลวอลเลต ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ที่เด่นชัดที่สุดคือท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ผู้ว่าการ ธปท.ได้ส่งจดหมายถึงประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต แจ้งถึงสาเหตุไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมระบุถึงประเด็นข้อคิดเห็นและข้อกังวล เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการหลายประเด็น ทั้งประเด็นเกี่ยวกับระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet เรื่องของสารพัดความเสี่ยง

โดยนายเศรษฐพุฒิระบุว่า หากโครงการดำเนินการ ต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มให้บริการ เนื่องจากการเชื่อมต่อ Payment Platform กับโมบายแอปพลิเคชั่น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบ IT อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง

โดย ธปท.จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกรณีที่ Open Loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหล หรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ และการขายลดสิทธิ (Discount) ระหว่างประชาชนและร้านค้า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ขณะที่นายปกรณ์​ นิลประพันธ์​ เลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา​ กล่าวถึงเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วสามารถยกเลิกโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ และเงินที่กู้มาจะทำอย่างไรว่า ต้องถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เมื่อแถลงต่อรัฐสภาเป็นนโยบายแล้ว สามารถยกเลิกได้หรือไม่ นายปกรณ์ระบุ​ ผมว่า “โดยหลักแล้วมันควรจะหยุดลง​” และไม่ต้องกลับไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

หรือแม้แต่นายวิษณุ เครืองาม มือหนึ่งด้านกฎหมายของประเทศ ยังตอบว่า “เป็นเรื่องรัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็ม จะหยุดก็ได้ จะเปลี่ยนแปลงก็ได้ จะเดินต่อก็ได้ เพราะเป็นคนละรัฐบาลกัน”

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ย้อนอ่าน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

เมื่อย้อนกลับไปอ่าน พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งออกในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น กฎหมายหรือพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ค่อนข้างชัดว่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดําเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกําหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ

เมื่อเจาะเข้าไปดูรายมาตรา พบว่ามาตรา 9 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด

ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

ส่วนมาตรา 80 ระบุว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องกระทําด้วยความสุจริต รอบคอบ โปร่งใส เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

ในกรณีมีการกระทําผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ การสั่งลงโทษทางปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

ดังนั้นถ้าหากโครงการนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลง หรือลดขนาดของโครงการลง หรือไม่รัดกุมเพียงพอ หรือมุ่งมั่นจะเดินหน้าต่อในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

หากมี “นักร้อง” ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับหลายคดีก่อนหน้า

งานนี้…

 

พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

 

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม :  พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561