สมาคมสื่อ “ไทย-กัมพูชา” ผนึกพลังป้องกันปัญหา Fake News

นางสาว น.รินี เรืองหนู

สมาคมสื่อไทย-กัมพูชาสานจับมือแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชน 2 ประเทศ พร้อมทบทวน MOU ที่ทำร่วมกันระหว่าง 2 สมาคม หวังส่งเสริมความสัมพันธ์ และสิทธิเสรีภาพสื่อ จัดตั้ง Hotline contact เพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารในประเด็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ปัญหา Fake News ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน 2 ประเทศ

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) นายอนุชา เจริญโพธิ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษา พร้อมด้วยกรรมการบริหารสมาคม จัดประชุมความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อของไทยและกัมพูชา โดยมีการทบทวนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ทำไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ร่วมกัน โดยฝั่งสื่อมวลชนกัมพูชามีนางสาวทอง โสวันเรนสี (Miss.Thong Sovanraingsey) เลขาธิการสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists-CCJ) ในฐานะหัวหน้าคณะ และนายเขียว โคลา (Mr.Khieu Kola) กรรมการสมาคม พร้อมคณะเข้าร่วมประชุม

โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในโอกาสที่สื่อมวลชนกัมพูชาเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 16-20 สิงหคม 2567 ซึ่งเป็นเยี่ยมเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

นายอนุชา เจริญโพธิ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 ก่อนยุติลงชั่วคราวจากจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา จนกระทั่งปี 2546 มีเหตุการณ์ความเข้าใจผิดระหว่างประชาชน 2 ประเทศ ทำให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในกัมพูชา ในสมัยนั้นนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นนายกสมาคม ได้หารือกับสมาคมนักข่าวกัมพูชา แล้วริเริ่มจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนกัมพูชา-ไทยอีกครั้งตั้งแต่ปี 2547

นางสาว น.รินี เรืองหนู

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนของทั้ง 2 ประเทศเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับสื่อมวลชน ระหว่างประชาชนกับประชาชน รวมถึงรัฐบาลต่อรัฐบาล สำหรับการเยี่ยมเยือนนี้ได้มีการทบทวน MOU ที่ทำร่วมกันระหว่าง 2 สมาคม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และสิทธิเสรีภาพสื่อ ทั้งนี้ ล่าสุดมีการจัดตั้ง Hotline contact ระหว่าง 2 สมาคม เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกันในประเด็นเร่งด่วนฉุกเฉิน หรือประเด็นที่จะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างกัน

ADVERTISMENT

สำหรับกิจกรรมที่เคยทำร่วมกันสมาคมนักข่าวฯ ได้จัดอบรมภาษากัมพูชาให้นักข่าวไทย โดยนักข่าวที่มีคะแนนสูงสุดในรุ่นก็จะได้รับโอกาสไปฝึกงานในประเทศกัมพูชา ดังนั้นในการทำ MOU ครั้งนี้ก็เป็นความตั้งใจของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะทำงานร่วมกันตลอดไป

ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษา กล่าวว่า สมาคมนักข่าวไทยได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวกัมพูชา เมื่อวันที่ 18-22 ตุลาคม 2566 โดยที่ TJA (Thai Journalists Association)  และ CCJ (Club of Cambidian Journalists-CCJ) เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่รวมตัวกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านสื่อของทั้ง 2 ประเทศ อ้างถึงบันทึกความเข้าใจที่ได้ลงนามในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 และแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562  ในกรุงเทพฯ สมาคมนักข่าวกัมพูชา และสมาคมนักข่าวไทยได้ตกลงที่จะต่ออายุบันทึกความเข้าใจฉบับปัจจุบัน ดังนี้

ADVERTISMENT

ข้อ 1. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านสื่อของทั้งสองประเทศผ่านกิจกรรมระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ข้อ 2. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาการติดต่อ Hotline contact ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อการสื่อสารในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอันอาจเกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง

ข้อ 3. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทย-กัมพูชาทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และติดตามสถานการณ์สื่อในปัจจุบันของแต่ละประเทศ

ข้อ 4. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการพัฒนาศักยภาพด้านสื่อและเพิ่มพูนความเป็นมืออาชีพด้านสื่อสารมวลชนของนักข่าวทั้งสองประเทศ และ และข้อ 5.ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการมีส่วนร่วมและความร่วมมือภายใต้กรอบของสมาพันธ์นักข่าวอาเซียน (Confederation of ASEAN Journalists-CAJ)

ด้านนางสาวทอง โสวันเรนสี เลขาธิการสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists-CCJ) กล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมายาวนาน ในการหารือถึงทิศทางความร่วมมือในอนาคต เพื่อเพิ่มเติมตามการบันทึกความเข้าใจ MOU ที่เคยลงนามร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติได้ 60-​70% อยากให้สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศร่วมมือกันทำตาม MOU ให้ได้ 100%

โดยสมาคมนักข่าวกัมพูชาได้ตั้งเป้าหมายจะถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักข่าวกัมพูชา เพื่อให้สามารถทำข่าวได้อย่างเป็นกลาง แม่นยำ และครบถ้วนถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหา Fake News ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจต่อกันระหว่างประชาชน 2 ประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันมายาวนานต้องร่วมมือกันป้องกัน Fake News ไม่ให้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน

นางสาว น.รินี เรืองหนู

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวกัมพูชาไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันอย่างใกล้ชิดอันจะเป็นเกาะป้องกัน Fake News ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ Fake News เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้คนหลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนแตกแยก จึงทำให้สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนกัมพูชา สื่อมวลชนลาวและสื่อมวลชนเวียดนาม จำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกัน Fake News อย่างจริงจัง

โดยเริ่มจากความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวไทย-กัมพูชาในการให้ความรู้กับสื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาของ Fake News โดย MOU ระหว่างสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนกัมพูชา จะเป็นข้อตกลงสำคัญในการขับเคลื่อนมุ่งเป้าตรวจสอบป้องกัน Fake News ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนกัมพูชา-ไทย ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญและมูลนิธิประเทศไทย” นางสาว น.รินีกล่าว

นางสาว น.รินี เรืองหนู

นางสาว น.รินี เรืองหนู