เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตนได้รับ 5,250 บาท/เดือน 4 ปี ได้กำไร ยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ยังไง เช็กรายละเอียดทั้งหมดที่นี่
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมจะได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากสำนักงานประกันสังคม รวมถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้ลาออกจากงาน สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิต ส่วนจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญกรณีชราภาพนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน
ตัวอย่างของผู้ได้รับเงินบำนาญชราภาพ
นายยุทธนา ศิริมา อายุ 61 ปี เผยว่า ได้มีการส่งเงินให้ประกันสังคมเดือนละ 750 บาท มาเป็นเวลา 25 ปี รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 240,000 กว่าบาท ปัจจุบันได้รับเงินคืนเป็นบำนาญชราภาพอยู่ที่ 5,250 บาท/เดือน
“ซึ่งถ้าเราคำนวณง่าย ๆ ได้รับสัก 4 ปี มันก็เกินที่เราได้จ่ายไปแล้ว ซึ่งผมว่าคุ้มค่ามาก ๆ ข้อดีของการรับเงินชราภาพ ไม่มีจุดสิ้นสุด ถ้าเรารักษาสุขภาพดี ๆ เราสามารถรับเงินได้ถึงอายุ 90-100 ปี ได้เลย” ยุทธนากล่าว
เงื่อนไขรับเงินบำนาญชราภาพ
เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (จะจ่ายติดต่อกันหรือไม่ก็ได้) มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้าง แต่หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ได้รับเพิ่มอีกในร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน นับจากระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน
เปิดวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ
สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่า สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณ หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้อัตราเงินบำนาญ ร้อยละ 20
ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16 – ปีที่ 20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี
รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5%
ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต และในกรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี นับแต่เดือนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนเดือนที่เหลือ หลังจากผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) มีดังนี้
-ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
-ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
-ผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญ ให้จ่ายบำเหน็จแก่ทายาท เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
ยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ทำยังไง
-กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส. 2-01) พร้อมลงลายมือชื่อ
-สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ
-หรือดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ ซึ่งเป็นช่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราแบบใหม่ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคาร
-ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน