Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
กรณีการพบผู้ป่วยพร้อมกันมากกว่าหลักสิบคน หลังจากดื่มยาดอง ดื่มสุราเถื่อน จากซุ้มยาดองในพื้นที่เขตคลองสามวา ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก โดยจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยกรณีดังกล่าวได้รับสารเมทานอล จากการบริโภคสุราเถื่อน
เหตุการณ์นี้ ทำให้มีผู้ป่วยรวมกว่า 40 คน เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย และมีการสอบสวนขยายผล พบซุ้มยาดองอันตราย ทั้งในเขตคลองสามวา 9 จุด และเขตอื่น ๆ รวม 9 จุด ในพื้นที่เขตหนองจอก ลาดกระบัง ประเวศ และคันนายาว
ทำไมเหล้าเถื่อน ถึงกลายเป็นภัยร้าย กลายเป็นความอันตรายของสายดื่ม
Prachachat BITE SIZE ชวนเรียนรู้พร้อมกัน
รู้จัก “เมทานอล”
เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ปกติจะใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ (สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา น้ำยาลอกสี น้ำงานเคลือบสี) รวมถึงนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ด้วย
ส่วนแอลกอฮอล์ ที่จะเจอในเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตอย่างถูกกฎหมาย จะเป็นแอลกอฮอล์ที่มีชื่อว่า เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ รวมถึงใช้ผลิตเป็นสเปรย์แอลกอฮอล์ น้ำยาล้างแผล และการใช้เพื่อฆ่าเชื้อ แต่กลุ่มที่ใช้เพื่อการฆ่าเชื้อ จะมีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์สูง อย่างน้อย 70% ซึ่งบริโภคไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่า พบการใช้สารไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ใช้เป็นตัวทำละลาย หรือสารฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถบริโภคได้
เหตุผลที่ว่า ทำไมพบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่ม เนื่องจาก “เมทานอล” มีราคาถูกกว่า “เอทานอล” โดยอาจมีผู้ผลิตบางรายนำ “เมทานอล” มาใช้กลั่นแทนเอทานอลหรือผสมกับเอทานอลด้วย เพราะเมทานอลมีจุดเดือดต่ำกว่าเอทานอล ทำให้กลั่นได้เร็วกว่า และการที่เมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้
เมทานอล อันตรายต่อร่างกาย
ผู้ที่ได้รับสารเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะ Methanol Intoxication หรือภาวะเป็นพิษจากเมทานอล
รศ.ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เล่ากลไกของการดูดซึมเมทานอลไว้ว่า เมทานอลจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นตับจะเปลี่ยนเมทานอลส่วนใหญ่ให้เป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นกรดฟอร์มิก (Formic Acid) ได้ด้วยเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase และ Aldehyde Dehydrogenase ตามลำดับ
จากนั้นร่างกายจะกำจัดกรดฟอร์มิกออกทางไตต่อไป ซึ่งฟอร์มัลดีไฮด์และกรดฟอร์มิกเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย
ขนาดที่เริ่มเป็นพิษ ประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่การสะสมของกรดฟอร์มิก (Formic Acid) ที่อยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis) และเป็นพิษต่อตา (Ocular Toxicity) ได้
ส่วนอาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอทานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก
อาการที่พบได้ มีดังนี้
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (Snowfield Vision)
- อาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
หากยังคงรับประทานเมทานอลต่อไปหรือได้รับในปริมาณสูง หรือรับการรักษาไม่ทัน อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน สูญเสียการมองเห็น หมดสติ ชัก และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
ด้านการรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอทานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย
ขณะเดียวกัน มีข้อมูล มีความเชื่อว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป จะช่วยขับสารพิษออกมาได้อีก อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิด
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ยืนยันว่า การดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเพิ่ม จะช่วยขับสารเมทานอล ออกจากร่างกายได้ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ผู้ที่รู้ตัว รีบเข้ารับการรักษาหรือเข้ารับการตรวจเลือดเร็ว โดยวิธีการรักษาที่ถูกต้องคือการฟอกไต
ส่วนวิธีการป้องกันตัวเองจากการรับสารเมทานอล ที่ป้องกันได้ดีที่สุด คือ เลือกดื่มผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย เพราะเอทานอล กับเมทานอล เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยการพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น
ขายเหล้าเถื่อน-ยาดอง มีโทษทางกฎหมาย
นอกจากอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้ดื่มแล้ว ฝั่งร้านค้า ร้านจำหน่ายยาดอง เหล้าเถื่อน มีความผิดตามกฎหมายด้วย
กรมสรรพสามิต ระบุว่า การเปิดซุ้มยาดองเพื่อจำหน่ายสุราถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ใน 2 ข้อหา คือ
- ความผิดฐานขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 155 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงน้ำสุรา โดยนำน้ำ ของเหลว หรือวัตถุอื่นใด เจือปนลงในสุราเพื่อการค้า ตามมาตรา 158 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากนี้ กรณีครอบครองเครื่องกลั่นสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 153 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขายสุราเถื่อนดังกล่าวจะมีโทษปรับ ตามมาตรา 191 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนผู้ซื้อ มีความผิดตามมาตรา 192 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
สำหรับกรณีพบเมทานอลที่ซุ้มยาดองต่าง ๆ จากกรณีนี้ มีความผิดเพิ่ม คือ ความผิดในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส
ประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่นำไปสู่ความกังวล และการจัดการปัญหาเหล้าเถื่อนที่อันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงกฎหมาย และการหาแนวทางป้องกัน ไม่ให้มีเคสแบบนี้ซ้ำ
สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อเคสเมทานอลในยาดอง ระบุว่า ภาครัฐต้องเข้มงวดกวดขันให้การจำหน่ายเป็นไปอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าก่อนไปถึงผู้บริโภค
รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงใบอนุญาตได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนในการขออนุญาตและเสียภาษีอย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระมากเกินไป เพื่อลดเหล้าเถื่อนที่อันตรายต่อประชาชน
รวมถึง ควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ผู้ประกอบการ ต้องตระหนักรู้ในความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ด้วยการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องและผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
แม้สุราเถื่อน หรือยาดอง จะมีราคาที่ไม่แรง ให้กำลังวังชาที่ดี แต่เพราะร่างกายของคนเราไม่มีอะไหล่ทดแทน เหมือนเครื่องจักร การรับประทานของที่มีประโยชน์ และระมัดระวังอาหารการกินต่าง ๆ เลือกทาน เลือกดื่มสิ่งที่ปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี, กรมการแพทย์
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.70 ได้ที่ https://youtu.be/r2yeDa4iQbQ
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ