ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol) ประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า Protocol ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำขึ้นนั้นต้องการเน้นให้ครอบคลุมโรคมะเร็งส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ โดยมีปัจจัยในการเลือกทำ Protocol ประกอบด้วย 1.พิจารณาจากความชุกหรือพบเจอบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ ฯลฯ 2.โรคมะเร็งที่เมื่อรักษาแล้วทำให้ประสิทธิภาพการรอดชีวิตดีขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม ที่แม้จะผ่าตัดแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก ก็จะมีการรักษาเสริมเพื่อลดอัตราการกลับมาเป็นโรค เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่ายมีชีวิตยืนยาวขึ้น แม้กระทั่งมะเร็งปอดระยะแพร่กระจายยังมี Protocol ในการรักษาให้
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาทกล่าวว่า ในการทำ Protocol ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดแนวทางการรักษามะเร็งแต่ละชนิด เช่น คณะทำงานมะเร็งปอด ก็มีทั้งศัลยแพทย์ แพทย์รังสีรักษา แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยารวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถจากสถาบันโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เข้ามาร่วมกำหนด Protocol โดยพิจารณาจากแนวทางการรักษาของต่างประเทศแล้วปรับให้เข้ากับประเทศไทย ภายใต้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้มั่นใจได้ว่าแนวทางการรักษานั้นเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็เห็นผลดีและหันมาอ้างอิง Protocol เดียวกับ สปสช.
“เราไม่ได้รวยแบบอเมริกา แต่ก็เอาแนวทางการรักษาที่มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพเข้ามาใช้ ทำให้คนไข้ได้ใช้ยาเท่ากันหมดและเราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ต่ำกว่าต่างประเทศ เพราะเน้นการใช้ยาสามัญยาในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งทำให้ซื้อยาได้ถูกลง” ศ.คลินิก พญ.สุดสวาทกล่าว และว่าการที่ สปสช.กำหนด Protocol ก็ทำให้การเข้าถึงโรคมะเร็งของคนไข้ไม่ว่าจะสิทธิไหนสามารถเข้าถึงยาได้เกือบ 100%
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาทกล่าวอีกว่า การกำหนด Protocol ประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยได้อย่างมาก เนื่องจาก สปสช.กำหนดว่าโรงพยาบาลที่เบิกจ่ายตาม Protocol ต้องมีเครื่องมือแพทย์และพยาบาลตามมาตรฐานที่กำหนด มีแนวทางการจ่ายยาที่ชัดเจน เช่น แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา แพทย์รังสีรักษา หรือศัลยแพทย์ที่ผ่านการอบรมเท่านั้นที่สามารถให้ยาได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สปสช.เริ่มกำหนด Protocol รักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2551 โดยปัจจุบันมีแนวทางการรักษา 8 กลุ่มโรค 11 Protocol และจะเพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 Protocol ในปีงบประมาณ 2561 ประกอบด้วย 1.มะเร็งเต้านม 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.มะเร็งหลอดอาหาร 5.มะเร็งตับทางเดินน้ำดี 6.มะเร็งหลังโพรงจมูก 7.มะเร็งนรีเวช 8.มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 9.มะเร็งกระดูก 10.มะเร็งโรคเลือดผู้ใหญ่ และ 11.มะเร็งในเด็ก
ที่มา : มติชนออนไลน์