“พายุยางิ” แผลงฤทธิ์ ระลอกแรกดึงร่องฝน-ลมมรสุม พัดถล่มภาคใต้-ตวอ.ระลอก 2 

พายุยางิ

พายุไต้ฝุ่นยางิ กำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้เกาะไหหลำ พร้อมส่งอิทธิพลดึงร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ

วันที่ 4 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่องพายุ “ยางิ” ฉบับที่ 5 โดยพายุไต้ฝุ่นยางิบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 127.2 องศาตะวันออก

ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 กม./ชม. พายุเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย.นี้ และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนต่อไป

ด้านนายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAM GROUP กล่าวถึงอิทธิพลของพายุยางิที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะทำให้

1) ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝน จะเลื่อนต่ำลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และ ภาคอีสาน

2) อิทธิพลของพายุยางิ ที่เคลื่อนที่เข้ามา ส่งผลให้ลมมรสุมมีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้ฝนตกเพิ่มมากขึ้นในร่องความกดอากาศต่ำ (ร่องฝน) มากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 7 ไปถึงวันที่ 11 กันยายน

Advertisment

3) ตัวของพายุยางิเองจะมีอิทธิพลในการดึงความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามา ทำให้ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่บริเวณจังหวัดระนอง, พังงา, ภูเก็ต, ตรัง เพิ่มมากขึ้น และยังดึงความชื้นจากอ่าวไทยขึ้นมาอีก ทำให้ฝนตกในบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพิ่มมากขึ้นด้วย ในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 11 กันยายน

4) ขณะที่ตัวพายุไต้ฝุ่นยางิเองคาดการณ์ว่า จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำในวันที่ 7 กันยายน ทำให้ฝนตกหนักมากที่เกาะไหหลำ หลังจากนั้นพายุก็จะมาขึ้นฝั่งอีกครั้งหนึ่งที่ชายแดนเวียดนามกับจีน จะทำให้ฝนตกหนักมาก

Advertisment

แล้วพายุยางิก็จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชั่นตามลำดับ ทำให้ฝนตกปานกลางถึงตกหนักใน สปป.ลาว และพม่าตอนบน ในระหว่างวันที่ 10 และ 11 กันยายน

“เมื่อถึงช่วงนั้นที่จะกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น ก็จะมีอิทธิพลทำให้ฝนตกปานกลางถึงตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และภาคอีสานตอนบน ได้แก่

จังหวัดเลย, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, นครพนม รวมถึงพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, ยโสธร และศรีสะเกษ” นายชวลิตกล่าว