กรมอุตุฯ อัพเดต “พายุเบบินคา” มรสุมแรงขึ้น เตือนฝนตกยาวถึง 22 ก.ย.

พายุโซนร้อนกำลังแรงเบบินคา (BEBINCA)
พายุโซนร้อนกำลังแรงเบบินคา (BEBINCA)

กรมอุตุฯ อัพเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรงเบบินคา (BEBINCA) คาดขึ้นฝั่งที่จีน ไม่เข้าไทย แต่เตือนอิทธิพลทำให้หลายจังหวัดยังมีฝนเพิ่ม ถึง 22 กันยายน เฉลี่ย 60-80% กทม.-ปริมณฑลเจอน้ำทะเลหนุนซ้ำ 

วันที่ 13 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 12-21 ก.ย.67 init. 2024091112 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลอง) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย ดังนี้

โดยแบบจำลองระบุว่า เป็นช่วงที่ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเพิ่มการติดตาม การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่วนภาคเหนือ แนวโน้มฝนเริ่มน้อยลงบ้าง

ช่วง 13-17 ก.ย. 67 ร่องมรสุมแรงขึ้นและจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีกำลังแรงขึ้นและพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝนตกหนักอีกช่วง

ขณะที่สถานการณ์ฝนภาคเหนือเริ่มเบาลง แต่ต้องเฝ้าระวังฝนสะสมไหลตามลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะชาว กทม.และปริมณฑล นอกจากจะมีฝนหนักแล้วยังมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ยังต้องระวังน้ำท่วมขัง น้ำรอการระบาย

ช่วง 18-22 ก.ย. 67 ร่องมรสุมเลื่อนต่ำลงมาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มรสุมยังมีกำลังแรง ฝนยังตกต่อเนื่องใกล้ร่องมรสุม ด้านรับมรสุม โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในระยะนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ฝนที่ตกมาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมบ้าง (ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่น ๆ ร่วมด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)

Advertisment

ส่วนการอัพเดตและวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาถึงเช้าวันนี้ (13/9/67) เมฆฝนยังปกคลุมบริเวณภาคอีสานตอนบน ร่องมรสุมยังพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ สำหรับพายุโซนร้อนกำลังแรงเบบินคา (BEBINCA) ยังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ประเทศจีน พายุนี้จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในขณะนี้

สำหรับชื่อของเบบินคา เป็นภาษาโปรตุเกส : Bebinca เป็นชื่อขนมพุดดิ้งของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า

Advertisment
พายุโซนร้อนกำลังแรง "BEBINCA"
พายุโซนร้อนกำลังแรง “BEBINCA”

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14-19 ก.ย. 67

คาดหมายอากาศรายภาค วันที่ 13-19 กันยายน 2567

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 13-17 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. 67 ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 15-19 ก.ย. 67 ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 13 และในช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. 67

ในวันที่ 13 ก.ย. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 14-19 ก.ย. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย. 67 ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 15-19 ก.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง

ในวันที่ 13 ก.ย. 67
ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 14-19 ก.ย. 67

ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส

กรุงเทพฯและปริมณฑล

ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. 67 ในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 16-19 ก.ย. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อธิบายภาพ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ออกประกาศ 13 กันยายน 2567