
กรมอุตุฯเผยมีพายุ 2 ลูกใหม่ ลูกแรกพายุดีเปรสชั่น อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ส่วนพายุโซนร้อน “ปูลาซัน” (PULASAN) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก คาดมุ่งหน้าไปจีน ไม่กระทบไทย ส่วนพายุเบบินคาคาดซัดเข้าจีนเต็ม ๆ ชี้ฝนที่ตกในไทยช่วงนี้มาจากอิทธิพลของร่องมรสุม และมรสุมกำลังค่อนข้างแรง แทบทุกภาค รวม กทม.และปริมณฑล ฝนยังตกหนัก 60-80% ของพื้นที่
วันที่ 16 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนบริเวณมหาสมุทรตะวันตกและทะเลจีนใต้ ล่าสุดเมื่อค่ำวันที่ 15/9/67 ว่า พายุดีเปรสชั่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก (ตะวันออกของฟิลิปปินส์) ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ปูลาซัน (PULASAN)” (หมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่งคล้ายเงาะ ตั้งชื่อโดยประเทศมาเลเซีย) กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ บ่ายหน้าไปทางประเทศจีนด้านตะวันออก (ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย)
ส่วนพายุไต้ฝุ่น “เบบินคา” กำลังจะขึ้นฝั่งประเทศจีน และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ไม่มีผลต่อประเทศไทย ฝนที่ตกในช่วงนี้มาจากอิทธิพลของร่องมรสุม และมรสุมกำลังค่อนข้างแรง
โดยจากการวิเคราะห์สภาพอากาศเช้าวันนี้ (16/9/67) ร่องมรสุมยังพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสาน มรสุมยังแรง เมฆฝนปกคลุมบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสานตอนบน ภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ชี้ดีเปรสชั่นกระทบร่องมรสุม ทำ “เหนือ-อีสาน” ฝนเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแผนที่อากาศเช้านี้ของกรมอุตุนิยมวิทยา มีพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ก่อตัวทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ด้วย
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์นี้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ ตอนบนในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67) คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน 2567
ทางด้านนายชัยชาญ สิทธิวรนันท์ ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ดำเนินรายการคุยรอบด้านกับงานอุตุนิยมวิทยา วันที่ 16 ก.ย. 2567 กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมถึงพายุดีเปรสชั่น(D) ลูกดังกล่าวว่า ถ้าดูตามรูปการณ์ในตอนนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นพายุดีเปรสชั่น แต่อาจจะอ่อนกำลังลงหลังจากผ่านเกาะฟิลิปปินส์ได้ อาจจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือว่ายังคงรูปร่างเป็นดีเปรสชั่นอยู่ และเมื่ออยู่ในทะเลจีนใต้ก็มีโอกาสที่จะทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนได้ตามลำดับต่อไป
“ถ้าดูตามระบบอากาศ ณ ตอนนี้ พายุนี้ไม่ได้เข้าไทย แต่มันจะมีผลกระทบต่อร่องมรสุม กล่าวคือจะดึงร่องมรสุม(ตัว L) ขึ้นไปทางตอนบน และอาจจะทำให้ภาคเหนือและอีสานในตอนนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นได้” นายชัยชาญกล่าว

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า
สำหรับการพยากรณ์อากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ ตอนบนในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67) คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน 2567

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู
ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร
นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง กับมีลมแรง
บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และยะลา
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง
บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

(ออกประกาศ 16 กันยายน 2567 เวลา 12.00 น.)