กรมอุตุฯเตือนฉบับ 2 พายุดีเปรสชั่นเข้าไทย ฝนตกหนัก 20-23 ก.ย.นี้

ประกาศเตือนพายุ “ดีเปรสชัน” ฉบับที่ 2

กรมอุตุฯออกประกาศเตือน ฉบับที่ 2 พายุ “ดีเปรสชั่น” ลูกใหม่เข้าไทย คาดขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง 20-21 ก.ย.นี้ ส่งผลทำให้ไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักถึงหนักมาก ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้  20-23 ก.ย.นี้ เฉลี่ย 60-80%ของพื้นที่

วันที่ 17 กันยายน 2567 เมื่อเวลา 17.00 น. นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนเรื่อง พายุ “ดีเปรสชัน” ฉบับที่ 2 (194/2567)

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (17 ก.ย. 67) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน

และคาดว่าในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย. 67 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีลมแรงในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย. 67

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 17–21 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

Advertisment

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพายุลูกนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งถ้ามีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน จะมีชื่อว่า พายุโซนร้อน “ซูลิก” เป็นภาษาไมโครนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้ชื่อนี้ หมายถึง หัวหน้าเผ่าโบราณ หรือผู้ปกครองเกาะ

Advertisment

ประกาศฉบับที่ 2 พายุดีเปรสชั่น

พยากรณ์อากาศ 7 วัน

กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 17 – 23 กันยายน 2567 ว่า ในช่วงวันที่ 18 – 20 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจากมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตลอดช่วง

อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่า ในช่วงวันที่ 19 – 20 ก.ย.67 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง

คาดหมายอากาศรายภาค วันที่ 17 – 23 กันยายน2567

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 17 – 18 ก.ย 67

ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 18 – 19 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากส่วนมากทางตอนบน ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28 – 35 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 18 – 23 ก.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย.67 ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง

ในช่วงวันที่ 18 – 23 ก.ย 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 18 – 21 ก.ย. 67

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ ขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง ตลอดช่วง

ในช่วงวันที่ 18 – 23 ก.ย 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 – 45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27 – 34 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 18 – 23 ก.ย. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมาก ในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย.67 ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 36 องศาเซลเซียส

คาดการณ์สภาวะอากาศ 7 วัน กทม.และปริมณฑล วันที่

(ออกประกาศ 17 กันยายน 2567 )