
เปิดผลสำรวจ 2 สำนักวิจัย นิด้าโพล-สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นคนไทย-คนกรุง มีความกังวลและมีความคิดเห็นต่อสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไร ?
หากใครได้ติดตามสถานการณ์ข่าวในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำและพยากรณ์อากาศ ได้รับความสนใจมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ การพยากรณ์อากาศและการคาดการณ์ฝนตก ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ กลายเป็นความกังวลของคนพื้นที่โดยรอบ จนถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้แม่น้ำสายสำคัญ ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะยังเกิดขึ้นอีกในพื้นที่อื่น ๆ หรือไม่
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนดูผลสำรวจความเห็นจาก 2 สำนักวิจัย ทั้งสวนดุสิตโพล และนิด้าโพล ว่าคนส่วนใหญ่กังวลหรือมีความคิดเห็นต่อสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไร
ส่วนใหญ่ไม่พอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาล
เริ่มจากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับสถานการณ์น้ำท่วม” ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,207 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยประสบปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 68.77 สาเหตุหลักของน้ำท่วม คือ การกระทำของมนุษย์ร้อยละ 42.49
ในช่วงน้ำท่วมเตรียมพร้อมรับมือด้วยการติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด ร้อยละ 70.05 ด้านความเชื่อมั่นต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 69.76 และไม่พึงพอใจต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ร้อยละ 77.80 ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากบอกรัฐบาลแพทองธาร คือ อยากให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีร้อยละ 64.07
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม แม้จะสามารถเตรียมรับปัญหาได้ด้วยตนเองส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและรู้สึกไม่พึงพอใจกับการจัดการปัญหาปัจจุบัน โดยคาดหวังให้เร่งช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแผนป้องกันระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจประชาชนให้มากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชัดเจนว่าประชาชนยังไม่พึงพอใจต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุกในการเข้าไปช่วยเหลือและบริหารจัดการในสถานการณ์ที่ประชาชนประสบเหตุอุทกภัยอย่างหนัก และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ภาพปรากฏที่เห็นจากสื่อต่าง ๆ เห็นเพียงอาสาสมัครและภาคเอกชนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยทันที ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งในข้อที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็คือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
โดยแท้จริงแล้วรัฐบาลมีกฎหมายและแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนจะได้ทราบถึงแนวการปฏิบัติและเตรียมรับมือเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัย
คนกรุงหวั่นน้ำท่วม แต่เชื่อว่าเอาอยู่
ส่วนศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปี 67 คนกรุงฯ กลัวน้ำท่วมหรือไม่” สำรวจระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความกังวลของคนกรุงเทพมหานครต่อสถานการณ์น้ำท่วม
ในปี พ.ศ. 2567
เมื่อถามความกังวลของประชาชนว่าจะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปีนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา พบว่า
- ร้อยละ 33.82 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล
- ร้อยละ 27.79 ระบุว่า ไม่กังวลเลย
- ร้อยละ 21.06 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล
- ร้อยละ 17.33 ระบุว่า กังวลมาก
ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในช่วงฤดูฝนนี้ พบว่า
- ร้อยละ 42.14 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ
- ร้อยละ 28.09 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ
- ร้อยละ 17.79 ระบุว่า พึงพอใจมาก
- ร้อยละ 10.38 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย
- ร้อยละ 1.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร พบว่า
- ร้อยละ 37.25 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น
- ร้อยละ 32.29 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น
- ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย
- ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก
- ร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ