‘แท็กซี่หมดอายุ’ วิ่งเกลื่อนเมือง จี้ภาครัฐทำงานเชิงรุก

เตือนภัย แท็กซี่หมดอายุ ระบาดหนัก วิ่งเกลื่อนกรุงเทพฯและปริมณฑล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ภาครัฐเร่งต้องทำงานเชิงรุก

วันที่ 27 กันยายน 2567 รายงานข่าวจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า รถแท็กซี่หมดอายุระบาดหนัก วิ่งเกลื่อนกรุงเทพฯและปริมณฑล ขอฝากเตือนประชาชนที่ใช้บริการระมัดระวังกันด้วย นี่เป็นข้อความจาก เพจแท็กซี่ไทย ที่โพสต์ข้อความ มีพลเมืองดีแจ้งมาหลังไมค์ว่าพบเห็นรถหมดอายุวิ่งเพ่นพ่านเต็มไปหมด บางคันหมดอายุไปกว่า 10 ปี ยังออกมาวิ่งรับส่งผู้โดยทั้งกลางวัน-กลางคืน

บางคันเหิมเกริมหนักถึงขั้นเอาป้ายขาวพ่นสีเหลืองทับทั้งที่เป็นรถปลดประจำการแล้ว ไม่ยอมถอดโป๊ะไฟว่างออก หวังหลอกชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แถมบางคันรู้แกวเริ่มถอดป้ายวิ่งกันแล้ว เพราะกลัวผู้โดยสารและพลเมืองดีจับได้ รถแท็กซี่หมดอายุตอนนี้มันเยอะจริง ๆ หลายคนอ้างว่าเศรษฐกิจแย่ไม่มีเงินซื้อคันใหม่ เพราะอัตราสตาร์ตของแท็กซี่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

รัฐต้องทำข้อมูลรถหมดอายุ

จี้ภาครัฐเร่งแก้ไขระบบจัดทำข้อมูลรถหมดอายุอัพเดต ทุก 3-6 เดือน ใส่ในแอปพลิเคชั่น DLT ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการใช้รถแต่ละคันและแจ้งเบาะแส เนื่องจากรถหมดอายุเหล่านี้ ไม่มีประกันภัยและไม่ผ่านการตรวจสภาพรถหรือการต่อมิเตอร์ แนะรัฐใช้กฎเข้มคุมรถหมดอายุต้องต่อภาษีถึงทำประกันภัยรถยนต์ได้ และยังพบเบาะแสด้วยว่ารถบางรุ่นหมดอายุไปหลายสิบปีแล้วแต่ทำไมทะเบียนยังเป็นป้ายที่ไม่หมดอายุ อาจจะเป็นแท็กซี่ผีหรือสวมทะเบียนเหรอเปล่า

วอนภาครัฐเร่งสร้างระบบให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบรถหมดอายุผ่านแอปพลิเคชั่นของกรมการขนส่งทางบกได้โดยเร็วด้วย การใช้รถหมดอายุมีความผิดตามกฎหมาย และผู้โดยสารที่ใช้อาจไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด

วิธีสังเกตรถแท็กซี่หมดอายุ

เพจแท็กซี่ไทย ยังแนะสังเกตรถแท็กซี่ที่ครบอายุการใช้งานแล้วเพื่อเลี่ยงการใช้บริการ โดยตรวจสอบจากหมวดอักษรบนแผ่นป้ายทะเบียน กรณีรถแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวเหลือง หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย มก, มข, มค, มง, มจ, มฉ, มช สำหรับหมวด มช จะทยอยหมดอายุสิ้นปี 2567 และ 2568 ส่วน รถแท็กซี่ในนามนิติบุคคล หรือสหกรณ์ หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล, ทจ, ทว, ทศ, ทษ

ADVERTISMENT

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของ กรมการขนส่งทางบก ได้เตือน ผู้ฝ่าฝืนนำรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนครบ 9 ปี ซึ่งครบอายุการใช้งานตามกฎหมายแล้วมารับส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครเขตปริมณฑล เช่น รังสิต ปทุมธานี นนทบุรี หากยังนำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเทียนออกทันที

และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มความมั่นใจความปลอดภัยในการใช้บริการแท็กซี่ กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้สังเกตรถแท็กซี่ก่อนเลือกใช้บริการ โดยสภาพตัวรถภายนอกต้องมั่นคงแข็งแรง

สำหรับประชาชนหากพบเห็น รถแท็กซี่หมดอายุการใช้งาน สามารถแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก
•สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
•Line@ : @1584DLT
•Facebook : 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ https://www.facebook.com/dlt1584/
•เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/
หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง
.
ขณะที่ ผู้โดยสารจำนวนมากพากันตั้งคำถามถึงวิธีการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรตื่นได้แล้ว!โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจจราจร กับ กรมการขนส่งทางบก ไม่คิดจะทำงานเชิงรุก รถหมดอายุแล้วออกมาวิ่งรับส่งคนต่อโดยไม่โดนจับเลย การไม่กวดขันจับกุม ได้แต่รอรับแจ้งเหตุจากผู้โดยสาร ทำให้ขยาดไม่กล้าใช้บริการ ขนส่งทราบข้อมูล เจ้าของรถ ที่อยู่ จำนวนรถหมดอายุ สามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลได้ เพราะอะไร จึงไม่ดูแล กำกับ ควบคุมจำนวนรถ ยังโยนความรับผิดชอบกลับให้ประชาชน

เจ้าหน้าที่ขนส่งช่วยออกมาตรวจเวลากลางคืนบ้างนะ….พวกหมดอายุชอบหากินตอนค่ำ ๆ-เช้ามืด…..อยากรู้จัง..คุณไม่รู้จริง ๆ หรือนี่! ส่วนคนขับแท็กซี่ รถหมดอายุแล้วก็ควรนำมาปลดป้ายทำเป็นรถบ้านนะ อย่าเอาไปหลอกนักท่องเที่ยวหรือรอเหมามันน่าเกลียด รู้ว่าต้นทุนวิชาชีพมันแพง แต่ศักดิ์ศรีพวกคุณจะต่ำไม่ได้นะ!! ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่… คนขับ ก็ไม่ต่างอะไรกับคำว่า “อาชญากร” เลย ถ้าจับได้ ต้องไม่ให้ขับรถสาธารณะทุกประเภท และโดยเฉพาะขับรถรับส่งเด็กนักเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ไม่ควรให้ขับด้วย

นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับให้ผู้บริโภค ดังนี้

1.รถแท็กซี่ที่หมดอายุ โดยส่วนใหญ่มักจะอาศัยเช่าพื้นที่/จอดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า ทำเป็นวิน โดยเฉพาะ โลตัส บิ๊กซี่ ผู้ประกอบควรกวนขัดและตรวจสอบเพื่อความถูกต้องและประโยชน์ของลูกค้า

2.ข้อเสียของรถแท็กซี่หมดอายุ ที่ผู้บริโภคจะเสียหาย ดังนี้

2.1รถแท็กซี่ ตามกฎหมาย คือรถโดยสารสาธารณะ หากรถคันนั้น มีประกันภาคสมัครใจ (ชั้น 1-3) เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบผู้โดยสารตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เพราะเจ้าของรถนำไปใช้ผิดประเภท ผู้โดยสารจะได้สิทธิแค่ตาม พ.ร.บ.รถยนต์เท่านั้น

2.2 หากผู้โดยสาร ที่มีประกันชีวิต, ประกันอุบัติเหตุ ใช้บริการรถแท็กซี่ที่หมดอายุ ตามกฎหมายย่อมไม่ถือว่ารถคันนั้นไม่ใส่รถโดยสารสาธารณะ!

ผู้โดยสารที่มีประกันชีวิต, ประกันอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมตามเงื่อนไขกรมธรรม์ปกติ แทนที่จะได้ค่าสินไหม เพิ่มพิเศษ เป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นแล้วแต่กรมธรรม์ เพราะประกันภัยเกือบทุกกรมธรรม์จะระบุเงื่อนไขว่า หากประสบอุบัติเหตุกับรถสาธารณะหรือโดยสารรถสารสาธารณะ จะได้วงเงินคุ้มครองเพิ่ม