ฝนทิ้งทวน! กรมอุตุฯเตือนรับมือตกหนักสุด 80% รวมกทม. 16-20 ต.ค.นี้

เมฆ ฝน
เครดิตภาพ : ORAPIN WACHANGNGOEN

ฝนจ่อทิ้งทวน! กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า(14-20 ต.ค.67) เตือนรับมือฝนตกหนักอีกช่วง 16-20 ต.ค.นี้ เฉลี่ย 60-80% ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง รวมกทม.และปริมณฑลด้วย หนักสุดถึง 80%  เหตุร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เสี่ยงท่วมฉับพลัน กรมอุตุฯคาดปลายสัปดาห์ที่ 3 ตุลาคม ประกาศเข้าฤดูหนาวได้

วันที่ 14 ตุลาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2567 ว่า ในช่วงวันที่ 14 – 15 ต.ค. ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภาคตะวันออก

ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 16 – 20 ต.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมผ่านภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และทะเลอันดามันตอนบน

ในขณะที่ในช่วงวันที่ 19 – 20 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

Advertisment

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรตลอดช่วง

ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16 – 20 ต.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง

Advertisment
พยากรณ์ฝนสะสมวันที่ 19 ตุลาคม 2567
พยากรณ์ฝนสะสมวันที่ 19 ตุลาคม 2567

ชี้ 3 ปัจจัยประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กรมอุตุฯ ออกมาระบุว่าจะสามารถประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยในช่วงปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม 2567 นี้ โดยมีปัจจัย 3 ปัจจัยที่จะเป็นเกณฑ์พิจารณาในการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยดังนี้

1.อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป คือมีอุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 23°c อย่างต่อเนื่อง

2.ลมระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100-3,500 เมตร เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไป เป็นลมฝ่ายตะวันตก

3.ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม

เครดิตภาพ : ORAPIN WACHANGNGOEN
เครดิตภาพ : ORAPIN WACHANGNGOEN

คาดหมายอากาศรายภาค วันที่ 14 – 20 ต.ค. 2567

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 14 – 17 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 18 – 20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15 – 17 ต.ค. อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 18 – 20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 35 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 14 – 16 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณตอนล่างของภาคในช่วงวันที่ 18 – 19 ต.ค. ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 14 – 15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 16 – 20 ต.ค. ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 17 – 18 ต.ค. ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 35 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 18 – 19 ต.ค. ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 35 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 18 – 19 ต.ค.

ในช่วงวันที่ 14 – 16 ต.ค. ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 – 34 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 14 – 16 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 18 – 19 ต.ค. ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 36 องศาเซลเซียส

(ออกประกาศ 14 ตุลาคม 2567 น.)