SCGJWD รุกโลจิสติกส์โซลูชันสินค้า Cold Chain ทั่วอาเซียน ด้วย 4 กลยุทธ์

SCGJWD ลุยโซลูชันโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิครบวงจรทั่วอาเซียน รับเศรษฐกิจฟื้นและแนวโน้มอุตสาหกรรมคลังสินค้าห้องเย็น อาหาร และเฮลท์แคร์ เติบโตแข็งแกร่ง วาง 4 กลยุทธ์ ปักหมุดลงทุนในไทยต่อเนื่องบนทำเลยุทธศาสตร์อีก 8 โลเคชัน รุกสร้างโอกาสใหม่ในต่างประเทศ 

วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ทำให้ความต้องการจัดเก็บและขนส่งอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการบริโภคภายในประเทศและการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับส่งออก พร้อมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น

ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะกับการจัดเก็บสินค้า อาทิ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยประเมินแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ในประเทศไทย จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.03% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2024-2029) และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.78 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2029

แผนการดำเนินธุรกิจของ เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี (SCGJWD) จึงเร่งเสริมความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการต่อยอดจุดแข็งในปัจจุบัน เช่น เป็นผู้ให้บริการห้องเย็นสาธารณะที่มีพื้นที่ให้บริการมากที่สุด 8 โลเคชันครอบคุมทั่วประเทศ รวมกว่า 241,000 พาเลต (แท่นวางสินค้า), ติดตั้งระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ, ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลและใบอนุญาตทุกประเภท เป็นต้น

โดยในปี 2025-2029 ได้วางงบลงทุนธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นรวมกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันรายได้จากธุรกิจดังกล่าวให้มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 12.8% ต่อปี จากเป้าหมายรายได้ปี 2025 ที่ 1,100 ล้านบาท ภายใต้ 4 กลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนการขยายธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิในประเทศไทยและอาเซียน ได้แก่

ขยายฮับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดภูมิภาค: ลงทุนขยายคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลัก เสริมความสะดวกในการกระจายสินค้า ลดระยะเวลาการขนส่ง และประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยปัจจุบัน SCGJWD มีคลังสินค้าห้องเย็น 8 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สมุทรสาคร 3 แห่ง สมุทรปราการ 3 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง และสระบุรี 1 แห่ง

Advertisment

รองรับสินค้ามากกว่า 241,000 พาเลท และจะลงทุนปรับปรุงคลังสินค้าทั่วไปของ SCG Logistics เดิมให้รองรับการจัดเก็บสินค้าแช่เย็นแช่แข็งในจังหวัดหัวเมืองที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีก 8 แห่ง เช่น ปทุมธานี สระบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เป็นต้น โดยจะมีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 24% เป็น 300,000 พาเลทภายในปี 2029

ขยายธุรกิจในอาเซียน: บริษัทฯ วางแผนสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยขยายการลงทุนและร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือกับ SWIFT ขยายธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นในมาเลเซีย รวมทั้งขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งในแต่ละประเทศและศึกษาโอกาสการทำ M&A

Advertisment

ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ขยายธุรกิจและออกแบบโลจิสติกส์โซลูชันตามโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า: โดยบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับกลุ่มไทยยูเนี่ยน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติ (ASRS) สำหรับจัดเก็บสินค้าปลาทูน่า ในจังหวัดสมุทรสาคร และร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ให้บริการโซลูชันจัดส่งสินค้าเบเกอรี่แก่ร้าน Amazon Café กว่า 500 สาขาทั่วประเทศ โดยใช้นวัตกรรมขนส่งเย็น Cool Container ผ่านเครือข่ายขนส่งของ SCGJWD ที่มีจำนวนฟลีทรถมากที่สุด สามารถขยายพื้นที่จัดส่งได้ครอบคลุมทั่วประเทศและคงคุณภาพสินค้าที่ดีถึงปลายทาง

ขยายบริการแบบ End-to-End Supply Chain Solution ในธุรกิจเฮลท์แคร์และยา: จะใช้จุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญบริการขนส่งและคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วประเทศ การได้รับรองมาตรฐานระดับสากล ระบบประกันคุณภาพสินค้าตลอดกระบวนการ และบริการเสริม เพื่อขยายบริการภายใต้กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การจับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และเจาะกลุ่มยาและวัคซีนที่มีอัตรากำไรที่ดี

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา และ นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SCGJWD

นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SCGJWD กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ AI ตลอดกระบวนการซัพพลายเชนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็นให้รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาทิ ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage Retrieval System: ASRS) เพื่อช่วยจัดเก็บสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำกว่า 99.9% ปลอดภัยสูง คงความสดใหม่และรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดขนาดปลาทูน่า เพิ่มความแม่นยำได้มากกว่า 95% และจะขยายสู่การคัดแยกสายพันธุ์ปลาในปีหน้า

บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ‘โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics)’ โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่คลังสินค้าห้องเย็นทุกแห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการซื้อไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าแทนรถน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage Retrieval System: ASRS) ที่ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ เทคโนโลยีหลักที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ช่วยให้บริษัทบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้นและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 200 ล้านบาท และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 33,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเทคโนโลยี TMS (Transport Management System) ที่ช่วยเรื่องวางแผนการเส้นทางการขนส่ง ทำให้สามารถประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ สู่ Net Zero ในปี 2050