BITE SIZE : ค่าธรรมเนียมรถติด หนทางสู่ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ประเด็นการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เป็นที่พูดถึงอย่างมาก หลังจากนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันศึกษาหาแนวทางผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

หนึ่งในแนวทางที่ถูกพูดถึง คือ การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงและเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่าย และค่าธรรมเนียมรถติด ก็เป็นหนึ่งในแหล่งทุนของกองทุนนี้ด้วย

Prachachat BITE SIZE ชวนทำความเข้าใจว่า ค่าธรรมเนียมรถติด คืออะไร ? ในประเทศไทย มีแนวคิด มีตุ๊กตาอะไรต่อเรื่องนี้แล้วบ้าง ? และต่างประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้ มีผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ?

แนวคิด “ค่าธรรมเนียมรถติด”

ค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ขับขี่ที่ต้องการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือแออัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เช่น ใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจ เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง และส่งเสริมให้ผู้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

ค่าธรรมเนียมรถติด มีการใช้ครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2518 หลังมีการเสนอโครงการ Area Licensing Scheme (ALS) เพื่อเก็บค่าผ่านทางจากรถที่เข้าย่านกลางเมือง โดยผลลัพธ์หลังเดินโครงการนี้ ช่วยลดการจราจรในเขตใจกลางเมืองได้ถึง 45% และลดอุบัติเหตุ 25% การจราจรดีขึ้น ยานพาหนะเคลื่อนตัวเร็วขึ้นจาก 11 ไมล์ต่อชั่วโมงเป็น 21 ไมล์ต่อชั่วโมง

จากนั้นปี 2541 สิงคโปร์เปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ERP) ซึ่งลดการจราจรติดขัดอีก 15% และมีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น

Advertisment

นอกจากการจราจรดีขึ้นแล้ว สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คุณภาพอากาศดีขึ้น และรัฐบาลมีรายได้จากค่ารถติดไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น

เมืองไทย และแนวคิด “ค่าธรรมเนียมรถติด”

ค่าธรรมเนียมรถติด จะเป็นหนึ่งในแหล่งทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำมาซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยกองทุนดังกล่าว จะคล้ายกับกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) ซึ่งลงทุนในสิทธิรับรายได้ทางพิเศษ และนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการอื่น ๆ ต่อไป

Advertisment

สำหรับกองทุนใหม่นี้ จะระดมเงินจากนักลงทุน ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนดังกล่าว และอาจจะพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ให้กับผู้ระดมทุน

ส่วนแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ที่คาดการณ์ไว้ มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น คาดว่าจะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 700,000 คัน หรือประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนการซื้อคืนสัมปทานด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) จำนวน 6 เส้นทาง เก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยมีเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน
  2. ทางแยก สีลม-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
  3. ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน
  4. ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
  5. ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน
  6. ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน)

หลังจากเรื่องนี้ มีการพูดถึงมากขึ้น ก็เป็นกระแสความเห็น 2 ทาง เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง ทั้งเรื่องความเหมาะสม สภาพเศรษฐกิจ และความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาแนวทางเก็บภาษีรถติด โดยใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี มีเป้าหมายเก็บภาษี 40-50 บาทต่อวันในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้ลดการใช้รถส่วนตัวและลดมลพิษ โดยจะเก็บภาษีเฉพาะรถเก๋ง ไม่กระทบรถปิกอัพ และจะมีการวางแผนทางเลือกเส้นทางอื่นให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนเส้นทางได้ พร้อมทั้งต้องเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้พร้อมก่อนเก็บภาษี

ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รมว.คมนาคม ระบุว่า จะทำให้เสร็จก่อน และเริ่มใช้ปีหน้า โดยพยายามขยายไปให้มีรถไฟฟ้า 20 บาทในเส้นอื่น ๆ นอกจากสายสีม่วงและสายสีแดง และกำลังเร่งดำเนินการเรื่อง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม

ขณะเดียวกัน มีหลายความเห็นจากคนทั่วไป นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะ เสียงส่วนใหญ่มองว่า ควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดี มีคุณภาพ เดินทางได้แบบไร้รอยต่อ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง

มองผลสำเร็จ “ค่าธรรมเนียมรถติด” ในต่างประเทศ

นอกจาก สิงคโปร์ ที่เป็นประเทศแรกในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด และประสบความสำเร็จจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ลดรถติดได้อย่างมาก ยังมีหลายเมืองน่าสนใจที่มีการใช้มาตรการนี้ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในนั้นคือ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 วันเสาร์-อาทิตย์ 12.00-18.00 ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การจราจรในพื้นที่ลดลง 16% และผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18% ส่วนกรุงลอนดอน มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

และยังมีอีกหลาย ๆ เมืองที่ใช้มาตรการนี้ เช่น กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หรือกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

ประเทศเหล่านี้ มองภาพคล้ายกันหมด คือ เพื่อลดปริมาณรถบนถนนที่การจราจรหนาแน่น ลดเรื่องมลพิษ และนำเงินไปใช้พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะควบคู่กันด้วย

จากนี้ ต้องติดตามกันต่อว่า ค่าธรรมเนียมรถติด สำหรับประเทศไทย จะออกมาเป็นยังไง หรือจะมีแนวทางไหนอีกบ้าง ที่ทำให้คนไทย ได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาถูก และมีคุณภาพควบคู่กันด้วย

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.78 ได้ที่ https://youtu.be/6KevwRnTPLw

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ