เปิด 7 มาตรการ กทม. ยกระดับรับมือฝุ่น PM 2.5 กำหนดเขตมลพิษต่ำ

(เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร)

กทม.ร่วมกับเครือข่ายแถลงมาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พร้อมยกระดับมาตรการเดิมอย่างการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ในวันที่ค่าฝุ่นแตะสีแดง มาตรการ Work from Home พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนไปตรวจสภาพรถ และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพื่ออากาศกรุงเทพฯที่บริสุทธิ์

วันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเครือข่ายจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงพลังงาน, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง, กรมควบคุมมลพิษ, สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. แถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ภายหลังประชุมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2568

ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินงานว่า กรุงเทพมหานครพร้อมหน่วยงานเครือข่าย พร้อมเดินหน้ามาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะประสบปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมของทุกปี

นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่นในปี 2568 จะดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา และผลปรากฏว่า สภาพอากาศดีขึ้น และมีปริมาณฝุ่นลดลงในปี 2566 ก่อนจะอธิบายถึงเป้าหมายการลดค่าฝุ่นของแต่ละพื้นที่ไว้ของปี 2568 ดังนี้

  1. เขตพื้นที่ป่า : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้
  • 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ค่าฝุ่นลดลง 25%
  • 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ค่าฝุ่นลดลง 25%
  • กาญจนบุรี ค่าฝุ่นลดลง 25%
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าฝุ่นลดลง 25%

2. พื้นที่เกษตร : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าฝุ่นลดลง 20%
  • 17 จังหวัดภาคเหนือ ค่าฝุ่นลดลง 30%
  • ภาคกลาง ค่าฝุ่นลดลง 10%
  • ภาคตะวันตก ค่าฝุ่นลดลง 15%

กลุ่มพื้นที่เป้าหมาย

ADVERTISMENT
  • ข้าว ค่าฝุ่นลดลง 30%
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ค่าฝุ่นลดลง 10%
  • อ้อยโรงงาน ค่าฝุ่นลดลง 15%

3. พื้นที่เมือง : ควบคุมการระบายฝุ่นในเมือง

  • โรงงานอุตสาหกรรมยานพาหนะให้ปฏิบัติตามกฎหมาย 100%

ด้านผู้ว่าฯชัชชาติกล่าวว่า “กรุงเทพมหานครพยายามหาอำนาจทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม.สามารถใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถกำจัดต้นตอของสาธารณภัยได้”

ADVERTISMENT

โดยในปีนี้ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ดังนี้

พื้นที่แนวถนน 9 เขต

  • เขตคลองสาน
  • เขตสาทร
  • เขตปทุมวัน
  • เขตบางรัก
  • เขตดุสิต
  • เขตพญาไท
  • เขตพระนคร
  • เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
  • เขตสัมพันธวงศ์

พื้นที่แนวผ่านถนน ได้แก่ 13 เขต 31 แขวง ได้แก่

  • เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง)
  • เขตจตุจักร (จตุจักร/ลาดยาว/จันทรเกษม/จอมพล)
  • เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง/สามเสนนอก/บางกะปิ)
  • เขตดินแดง (ดินแดง/รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน)
  • เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย)
  • เขตยานนาวา (ช่องนนทรี/บางโพงพาง)
  • เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม/บางโคล่)
  • เขตธนบุรี (ดาวคะนอง/สำเหร่/บุคคโล/ตลาดพลู)
  • เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ)
  • เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์/อรุณอมรินทร์/บางขุนศรี/บ้านช่างหล่อ/ศิริราช)
  • เขตบางพลัด (บางพลัด/บางบำหรุ/บางอ้อ/บางยี่ขัน)

เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น อัตราการระบายอากาศ และทิศทางลมมาจากตะวันออก ล่วงหน้า 2 วัน จะออกประกาศดังกล่าว โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ

โดยจะมีการกำหนดเปิดลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ตั้งแต่ 1 พ.ย. 67 สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่เข้ากระบวนการบำรุงรักษารถ ประกอบด้วย เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และการติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล (DPF) ได้รับการยกเว้นมาตรการในเขตมลพิษต่ำ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย

กทม ประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่
(เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร)

ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าพื้นที่ในช่วงที่มีการประกาศ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าของรถบรรทุกให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพมหานครทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤตฝุ่นหนาแน่น และ กทม.มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวก เพื่อให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครดีขึ้น” ชัชชาติเน้นย้ำ

มาตรการที่ 2 โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น เชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้ตรวจสภาพรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนไส้กรองอากาศ กำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567-มกราคม 2568 วางเป้าหมายไว้ที่ 500,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 200,000 คัน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า “กระทรวงพลังงานได้ประสานกับหลายผู้ประกอบการที่ให้บริการในเรื่องนี้ ปรับลดราคาการตรวจเช็กค่าตรวจสภาพรถ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และการเปลี่ยนไส้กรอง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเชิญชวนประชาชนดูแลรถยนต์และช่วยกันลดค่าฝุ่น PM 2.5 ไปด้วยกัน”

ด้าน ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่ออากาศใน กทม.บริสุทธิ์มากขึ้น และเรียกร้องให้ทุกภาคีเครือข่าย ทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลร่วมมือทำควบคู่ไปทิศทางเดียวกันก็จะเจอผลดีกับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร”

มาตรการที่ 3 Work from Home เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน ซึ่งจากการจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนถนนลดลง 8% กทม.จึงวางเป้าหมายเพิ่มเครือข่ายมากขึ้น ทั้งบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ จำนวน 200,000 คนในปีนี้

มาตราการที่ 4 การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน

มาตรการที่ 5 โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. อธิบายถึงมาตราการนี้ว่า “เนื่องจากแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 มีหลายปัจจัย และมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การแก้ปัญหาในระยะยาวจึงจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ ซึ่งหากเราบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าแหล่งกำเนิดมาจากอะไร อย่างละเท่าไหร่ และในเวลาไหน เราก็จะสามารถแก้ปัญหาเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงมีการร่วมมือกับ กทม.ติดตั้งอุปกรณ์วิเคราะห์ที่มาในปี 2568 ใน 3 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่, กรุงเทพฯ และสงขลา”

มาตรการที่ 6 การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร

มาตรการที่ 7 การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้