‘จักรพล ตั้งสุทธิธรรม’ เผยความคืบหน้า พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับสมบูรณ์ คาดผ่านทุกวาระ และบังคับใช้ภายในต้นปี 2568 พร้อมฉายภาพหน้าตา พ.ร.บ.สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน
ฝุ่นพิษ PM 2.5 อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และหนักขึ้นทุกครั้งในช่วงฤดูหนาว กระทบถึงสุขภาพของคนไทยที่ต้องหายใจและอยู่ร่วมกับฝุ่นพิษเป็นเวลาแรมปี และไม่มีแม้แต่สิทธิในการรับอากาศสะอาด และสุขภาพที่ดี
ทันทีที่มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ ผ่านวาระที่ 1 แสงสว่างแห่งความหวังในการได้รับอากาศบริสุทธิ์ก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับแถลงความคืบหน้าจาก “จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดการเพื่ออากาศสะอาด
และให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาชาติธุรกิจ‘ เพิ่มเติมถึงหน้าตา พ.ร.บ.นี้ที่คาดว่าร่างที่สมบูรณ์นี้จะนำเข้าสู่สภาพิจารณาในเดือนธันวาคม และมีการเปิดรับความเห็นของประชาชนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำไปสู่วาระต่อไป และหากปราศจากข้อผิดพลาด พ.ร.บ.ฉบับที่สมบูรณ์นี้จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมกราคม 2568
ประชาชนรอไม่ได้ แต่หายไป 10 เดือน
จักรพลเปิดเผยว่า ทุกครั้งที่ฤดูหนาววนกลับมา ตนจะถูกตั้งคำถามจากประชาชนถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งหากจะทำให้เสร็จภายในสามเดือนก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะเป็นการทำงานแบบลวก ๆ สุดท้ายแล้วก็จะถูกตีตกไปอยู่ดึ ตนจึงอยากให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์มองถึงการผลิตกฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาระดับโลก รายละเอียดใน พ.ร.บ.แต่ละฉบับ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับในสภาฯ ที่มีขั้นตอนที่ยาวนานและซับซ้อน การทำงานจึงต้องใช้เวลา
ตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาข้อกฎหมายทั้ง 10 หมวด 102 มาตราอย่างเข้มข้นโดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพิ่ม 2 คณะ เพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อป้องกันข้อบกพร่องของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับ ที่มี 1 ฉบับจากภาคประชาชน 5 ฉบับจากพรรคการเมือง และ 1 ฉบับจาก ครม. ให้กลายมาเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นข้อกฎหมายบังคับใช้ลดปัญหาฝุ่นมลพิษในประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ แทน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ที่ไม่สามารถแก้สถานการณ์ฝุ่นพิษในปัจจุบันได้
“ผมต้องการให้มันไปถึงเป้าหมายแล้วบรรจุทุกสารัตถะครบถ้วน ไม่ใช่ตีเรือเปล่า แถไปให้ถึง เรือลำนี้ต้องบรรจุครบทุกองค์ประกอบ แล้วส่งมอบได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกตีกลับ”
หน้าตา พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับที่ 8
จักรพลเปิดเผยหน้าตาของ พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์นี้ว่า จะมีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจลดการก่อมลพิษ อาทิ
- มาตรการเรียกเก็บภาษีที่เรียกว่า ภาษีบาป (Sin Tax) สำหรับเจ้าของแหล่งมลพิษ จากการตรวจสอบผ่านดาวเทียม GISTDA ประเมินมูลค่าและปรับตามจริง
- การสร้างห้องปลอดฝุ่นเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ
- บทลงโทษทางกฎหมายสำหรับเจ้าของแหล่งมลพิษ ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย
เหล่านี้เป็นมาตรการการจัดการฝุ่นในระยะสั้น ในส่วนของมาตรการระยะยาว คือ การใช้ข้อกฎหมายนี้ในการเจรจากับเพื่อนบ้าน ปรับไมนด์เซตของเกษตรกรรมที่เดิมปลูกพืชพันธุ์ที่จำเป็นต้องก่อมลพิษให้หันไปปลูกพืชพันธุ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังวางแผนสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่แหล่งรายได้ใหม่อย่างการผลิตก๊าซชีวภาพที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่แท้จริงของรัฐบาลอันดับแรก คือ หยุดต้นกำเนิดการเผาตั้งแต่แรกเป็นความสำคัญ ต่อมาคือ การเปลี่ยนประเภทการปลูก และการผลักดันประชาชนเข้าสู่แหล่งรายได้ใหม่ที่ดีกว่าเดิม
สำหรับการจัดการปัญหามลพิษที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ บรรจุอยู่ในหมวดที่ 6 เรียกว่า การจัดการมลพิษข้ามแดน จะทำให้การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ง่ายขึ้น ก่อนจะย้อนความไปในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีการพูดคุยข้อตกลงร่วมกัน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย ลาว และฟิลิปปินส์ เพื่อไม่ให้มีการปล่อยมลพิษเข้ามาที่ภาคเหนือของประเทศไทย
“เราไม่สามารถเดินทางถึงจุด Net Zero หากขาดกฎหมาย Carbon Credit ที่อยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้”
“หากไร้การร่วมมือกัน ต่อให้แก้ในบ้านให้ตายอย่างไร ค่าฝุ่นเป็น 0 ควันพิษก็ลอยมาตกที่ภาคเหนือของประเทศเราอยู่ดี”
จักรพลเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ซึ่งหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านทุกวาระตามเวลาที่คาดการณ์ไว้ หมายความว่า ต้องสอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเชื่อมโยง พ.ร.บเข้ากับ กม. โดยใช้นโยบายสิ่งแวดล้อมที่หาเสียงมาของพรรคเพื่อไทยมาเป็นแนวทางในการกำหนดการทำงานของกระทรวง ทบวง และกรมที่เกี่ยวข้อง
ก่อนจะเล่าย้อนไปถึงการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยชุดก่อนที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ว่า มีการสั่งการที่เด็ดขาด ทำให้ควบคุมค่าฝุ่นในเดือนธันวาคม 2566 – มกราคม 2567 ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ทราบว่า มลพิษที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่มาจากเผาผลผลิตทางเกษตรกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลจัดการได้หมด
ขณะที่มลพิษที่เกิดจาก Contract Farming และลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องใช้ข้อบังคับทาง กม.ในการจัดการ จึงกลายมาเป็นมติ ครม.ของรัฐบาลเศรษฐา มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ขึ้นมา แม้ว่าจะเปลี่ยนชุดทำงาน แต่การมาของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย น.ส.แพทองธารก็สามารถเชื่อมโยงนโยบายต่าง ๆ ต่อได้ทันที
“เรามั่นใจในชุดความรู้ บทเรียน และการทำงานอย่างหนักในพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แนวทางการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักที่หาเสียงเอาไว้ เรายึดทำตามและส่งมอบให้กับประชาชน”
แนวทางจัดการควันบ้านเกิด
อย่างที่ทราบกันดีว่าแม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านครบทุกวาระ และบรรจุเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็ไม่สามารถทำให้ฝุ่นของภาคเหนือหายไปได้ในปีนี้ หนำซ้ำอาจเป็นกรรมซัดภาคเหนือให้เผชิญกับสาธารณภัยอีกรอบ หลังจากผ่านความเสียหายของน้ำท่วมมาหมาด ๆ จักรพลในฐานะอดีต ส.ส.เชียงใหม่ยอมรับว่า
“กรรมธิการชุดนี้จะไม่สามารถทำให้ค่าฝุ่นลดลงได้ในไตรมาสหนึ่งของปีหน้า แต่หวังใจว่ามันอาจจะเป็น bonus track ในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ให้การรู้สึกผิดต่อการสร้างมลพิษ”
ก่อนจะฉายภาพมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่ขาดไปจากการมีค่าฝุ่นติดอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันห้าปี ตีตัวเลขได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ไม่รวมความเสียหายจากผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากภาคเหนือ 17 จังหวัด ที่สามารถประเมินได้ถึง 2,000 ล้านบาท และเป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
จักรพลเน้นย้ำว่า นอกจากหมอกควันข้ามพรมแดน อีกหนึ่งสาเหตุของฝุ่นในภาคเหนือเกิดจากการเผาผลผลิตทางการเกษตรของทางภาคเหนือ เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นดอย และการเผา+มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้รถไถ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้ามาให้องค์ความรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับประเภทของพืชพันธุ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าชนิดเดิมมาทดแทน รวมถึงข้อเสนอการให้สินเชื่อประชาชนในการสร้างโรงงานไบโอแก๊สชีวมวลที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมโยงไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ โดยหวังว่าทันทีที่ กม.ฉบับนี้ถูกนำมาใช้ ภาคเอกชนรายใหญ่ก็จะทราบทันทีว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนเองให้มีกระบวนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น