กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี สำรวจพื้นที่การวางขาแท่นจำลองเพื่อเป็นปะการังเทียม ซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กที่เคยวางไว้เมื่อหลายปีก่อน หลังมีแผนจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม จำนวน 8 ขาแท่น นำร่องบนพื้นที่เกาะพะงัน อยู่ห่างจากเกาะระยะทาง 8 ไมล์กิโลเมตร และจากหินใบประมาณ 7 ไมล์ทะเล เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ คณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ จึงเกิดข้อห่วงใย และให้ ทช.รวบรวมข้อมูลรอบด้าน พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนจะลากขาแท่นปิโตรเลียมขนาดใหญ่มาดิ่งยังเกาะพะงัน
จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช.กล่าวว่า เหตุผลเลือกพื้นที่เกาะพะงันเพราะผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสม โดยเคยมีโครงการต้นแบบในการวางโครงสร้างเหล็กร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พื้นที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 พบประสบความสำเร็จทั้งด้านระบบนิเวศ ความเหมาะสมของวัสดุ รูปแบบการจัดวาง การเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิต จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม แบ่งเป็นโครงสร้างเหล็กชนิดประเภท 3 ขา จำนวน 1 แท่น และประเภท 4 ขา จำนวน 7 ขาแท่น สำหรับส่วนที่จะนำมาเป็นปะการังเทียม คือเฉพาะส่วนขาแท่นเป็นเหล็กกล้า ไม่มีส่วนสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน จากนั้นจะขนย้ายผ่านทางเรือมาวางที่ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร จากระดับน้ำทะเลต่ำสุด เมื่อวางแล้วจะมีน้ำเหนือกองวัสดุในช่วงน้ำลงต่ำสุด 10 เมตร เป็นความสูงที่ไม่กระทบต่อการเดินเรือของความมั่นคง เนื่องจากขาแท่นทั้งหมดข้อมูลสำรวจพบสิ่งมีชีวิตหลากหลายมาเกาะติดบริเวณขาแท่นเปรียบเสมือนปะการังอยู่แล้ว จะทำให้ขาแท่นช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้สมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
“การวางขาแท่นต้องไม่วางสะเปะสะปะ ต้องกำหนดจุดเหมาะสมเช่นเดียวกับอ่าวเม็กซิโก ซึ่งได้กำหนดจุดวางเพื่อวางขาแท่นราว 7,000-8,000 แห่งแล้วได้ผล อนาคตคาดจะมีขาแท่นผลิตปิโตรเลียมหมดสัญญาสัมปทานอีกหลาย 100 แท่น หากไม่นำประโยชน์ก็กลายเป็นเศษเหล็ก จึงต้องเดินหน้าทดลองหาข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จ” อธิบดี ทช.กล่าว
ประเสริฐ คงขน ชาวประมง อ.เกาะพะงัน กล่าวว่า ชาวประมงส่วนใหญ่ต้องการให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปลูกปะการังเทียม ซึ่งก็เริ่มทำมาแล้วหลายพื้นที่ ทำให้สัตว์น้ำหายากบางชนิดเริ่มกลับคืนสู่ท้องทะเล เช่นเดียวกับ ทช.ทิ้งเรืออวนรุน 17 ลำและจัดวางปะการังเทียมต่อเนื่องสร้างความภูมิใจแก่ชาวเกาะพะงัน เพราะผลสำเร็จเห็นได้ชัดจากโครงการตกปลาประจำปีของเกาะพะงันและเกาะเต่า มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี และกลายเป็นจุดตกปลาของนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน อีกทั้งการประชุมชาวบ้านทุกครั้งก็เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวเกาะพะงัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน ที่โรงแรมบรรจงบุรี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา อ.เกาะพะงัน ผลสรุปจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย และแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อให้รับทราบมอบนโยบายแนวทางปฏิบัติในการจัดทำวางปะการังเทียมจากขาแท่นเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป