อาจารย์ ม.ขอนแก่น อธิบายเรื่อง ‘ฮวงจุ้ย’ ศาสตร์ในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ชี้ ‘วัตถุมงคล’ แก้การเจ็บป่วยหรือรักษาความปลอดภัยไม่ได้ อย่าได้หลงเชื่องมงาย
รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายความเข้าใจเรื่อง ‘ฮวงจุ้ย’ และ ‘สถาปัตยกรรม’ พร้อมกับแนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและงมงาย
เนื้อหาทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้
ความเข้าใจใน ‘ฮวงจุ้ย’
‘ฮวงจุ้ย’ หรือ ‘ฟงสุ่ย’ คือศาสตร์ในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชาวจีนโบราณเมื่อ 2000 ปีที่แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายคือความปลอดภัย ความสบายทางร่างกาย และการไม่เจ็บป่วย เป็นเป้าหมายหลัก ตัวอย่างของข้อปฏิบัติของคติความเชื่อฮวงจุ้ย เช่น
การหันหน้าอาคารด้านยาวเพื่อรับแดดทางทิศใต้ เพื่อให้อาคารสามารถรับแดดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเมืองจีนเป็นเมืองหนาว และในอดีตไม่มี Heater มีแค่แสงอาทิตย์กับกองไฟ
การเลือกใช้รูปแบบอาคารเพื่อลดผลกระทบจากกระแสลมหนาว เช่นการลดช่องเปิดหรือช่องลม ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะช่องเปิดทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นทิศที่กระแสลมหนาวพัดพามา
การเลือกใช้พืชพรรณทางธรรมชาติเช่น ต้นไผ่ ต้นหลิว เพื่อบดบังกระแสลมทางทิศทางลมหนาว และพายุทรายที่จะพัดพามาเช่นทางทิศเหนือ
การไม่ตั้งเตียงนอนขวางบริเวณที่แนวประตูตรงกัน เพื่อป้องกันอาการไหลตายจากกรณีที่อุณหภูมิอากาศลดลงจากความเร็วลมที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ Hypothermia ได้
การไม่เก็บของที่ไม่ใช้ หรือขยะไว้ในที่พักอาศัย เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อราที่ทำให้คุณภาพอากาศภายในหรือ Indoor Air Quality ไม่ดี ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้และเจ็บป่วยตามมา
การไม่เลือกทำเลที่ตั้งอาคารบริเวณทางสามแยกหรือสามแพร่งของถนนหรือแม่น้ำ เพราะเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเกิดการกัดเซาะจากน้ำได้ง่าย
การไม่นั่งหันหลังให้กับประตูหรือทางเดิน เพื่อไม่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย การไม่กำหนดตำแหน่งเตียงนอนบริเวณใต้คานเพราะคานอาจพังลงมาทับเราตอนนอน กรณีที่มีการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น
การนำฮวงจุ้ยจีนมาใช่เมืองไทย ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับ ‘กาละ’ คือเทคโนโลยี วัฒนธรรม สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และ ‘เทศะ’ คือ สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ธรณีวิทยา ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างจีนกับไทย
การใช้วัตถุแก้ปัญหาฮวงจุ้ยมีที่มาจากลัทธิหมวกดำ (Tibetan Black Tantric) จากทิเบต เน้นการวางวัตถุตามมุมห้องที่มีหลายความหมาย โดยสัมพันธ์กับทิศทางเข้าของห้องนั้นๆ
จากผลการศึกษาและวิจัย ขอยืนยันว่า ‘การใช้วัตถุมงคล’ นั้นเพียงแต่ทำให้เกิดความสบายใจเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาอันเกิดมาจากความไม่สบายกาย การเจ็บป่วย หรือความปลอดภัย อันเป็นเป้าหมายหลักของการจัดฮวงจุ้ยได้ ดังนั้นอย่าได้หลงเชื่องมงาย จนตกเป็นเหยื่อ