
กรมอุตุฯอัพเดตสถานการณ์และเส้นทางพายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่ (MAN-YI)” คาดเข้าเกาะไหหลำของจีน 19-20 พ.ย.นี้ แนะตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง เตือนช่วง 18-24 พ.ย.นี้ มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาระลอกใหม่จะมีกำลังแรงขึ้น อากาศ ภาคอีสานอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส พื้นที่อื่น รวม กทม.และปริมณฑลลดลง 1-4 องศา ส่วนภาคใต้ยังมีฝนตกหนักช่วง 20-23 พ.ย.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตสถานการณ์และเส้นทางพายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่ (MAN-YI)” ล่าสุดเมื่อเวลา 04.00 น. เช้าวันนี้ (18/11/67) มีศูนย์กลางบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. 2567 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)
ส่วนการอัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ทุก ๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 18-27 พ.ย. 67 init. 2024111712 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลอง)
ช่วง 18-27 พ.ย. 67 มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลมหนาวพัดแรงขึ้น อากาศจะเริ่มเย็นลงอีกครั้งบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ส่วนฝนยังเกิดขึ้นได้บ้างบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง พี่น้องเกษตรกรต้องระวังผลผลิตที่อาจได้รับความเสียหาย จากฝนที่ตกในระยะนี้ ระวังรักษาสุขภาพ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีลงไป ช่วงวันที่ 20-24 พ.ย. 67 จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้น ต้องติดตามและเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
พยากรณ์อากาศ 24 ชม.ข้างหน้า
ส่วนการพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (18 พ.ย. 67) บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย กับมีลมแรง และมีอากาศเย็นในตอนเช้าในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากฝนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” (MAN-YI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. 2567 โดยมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 17-24 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝน/ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง และมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือจะมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และภาคกลาง ภาคตะวันออก มีอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส
ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร สำหรับชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง
สำหรับประชาชนในภาคใต้ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. 67 ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง