
กรมอุตุฯ เตือนภาคใต้รับมือฝนตกหนัก-ตกสะสม เสี่ยงท่วมฉับพลัน 20-23 พ.ย.นี้ เหตุมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ขณะที่ตอนบนของประเทศจะมีอุณหภุมิลดลง 2-4 องศสเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกและกทม.ลดลง 1-2 องศา ปภ.แจ้งเตือน 11 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำป่า-น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงดินถล่ม
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (19 พ.ย. 67)ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง โดยมีอากาศเย็นในตอนเช้าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “หม่านหยี่” (MAN-YI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 19–20 พ.ย. 2567 โดยมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19 – 22 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอุณหภูมิลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 – 2 องศาเซลเซียส
ส่วนในช่วงวันที่ 23 – 25 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 20 – 25 พ.ย. 64
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร สำหรับชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
สำหรับประชาชนในภาคใต้ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ในช่วงวันที่ 20 – 23 พ.ย.67 ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
สถานการณ์แผ่นดินไหว(ในช่วงวันที่ 18 – 19 พ.ย. 67): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 1.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศลาว และขนาด 1.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
ปภ.แจ้งเตือน 11 จังหวัดเฝ้าระวัง
ทางด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 11 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
