เปิดเหตุผลที่ “ประกันสังคม” ต้องปรับเพดานค่าจ้าง แบบขั้นบันได 3 ขั้น

แจงเหตุผลที่ประกันสังคมต้องปรับเพดานค่าจ้าง แบบขั้นบันได 3 ขั้น ย้ำคนค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท จ่ายเท่าเดิม

ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง” โดยมีนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการประกันสังคม นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ผู้แทนสื่อมวลชน และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

ปรับเพดานค่าจ้าง สร้างความมั่นคงของสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสําหรับให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นเวลา 34 ปีแล้ว ที่กองทุนประกันสังคมอยู่เคียงข้างผู้ประกันตน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

ในปัจจุบันมีผู้ได้รับบำนาญจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 792,149 คน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต ทั้งนี้ การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้กำหนดเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และไม่เคยมีการแก้ไขถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 34 ปี

สำนักงานประกันสังคมได้ตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงของสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน จึงได้ดำเนินการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม

ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง-องค์การลูกจ้าง ผู้แทนจากพรรคการเมือง นายจ้างและลูกจ้างทั่วไป ผู้แทนสื่อมวลชน ถึงการปรับเพดานค่าจ้างในรูปแบบขั้นบันได 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อนายจ้างและผู้ประกันตน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ADVERTISMENT
  •  ในปี 2569-2571 ปรับเป็น 17,500 บาท
  •  ในปี 2572-2574 ปรับเป็น 20,000 บาท
  • และขั้นสุดท้าย ในปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเป็น 23,000 บาท

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์

ปรับเพดานค่าจ้าง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น

ด้านนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ที่ไม่ได้อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ให้แก่ผู้ประกันตนตลอดมา เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีคลอดบุตร ในปี พ.ศ. 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 4,000 บาท/ครั้ง ในปัจจุบันเพิ่มเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท/ครั้ง

ADVERTISMENT

เงินสงเคราะห์บุตร ในปี พ.ศ. 2541 ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 150 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 2 คน ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 800 บาท/เดือน/บุตร 1 คน สูงสุด 3 คน และในกรณีตาย เงินค่าทำศพ ในปี พ.ศ. 2538 จ่ายเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปัจจุบันเงินเพิ่มเป็นค่าทำศพ 50,000 บาท เป็นต้น

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีว่างงาน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง

ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ อันเป็นที่มาของการประชุมรับฟังความคิดในวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน (ปี 2567) ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 750 บาทต่อเดือน โดยสิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับ ประกอบด้วย

นางมารศรี ใจรังษี

1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 7,500 บาทต่อเดือน (250 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 45,000 บาท)

2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 22,500 บาทต่อครั้ง

3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 7,500 บาทต่อเดือน

4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท

5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 7,500 บาทต่อเดือน

6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 5,250 บาทต่อเดือน

ปี 2569-2571 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 17,500 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ

1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 8,750 บาทต่อเดือน (291 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 52,500 บาท)

2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 26,250 บาทต่อครั้ง

3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 8,750 บาทต่อเดือน

4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 105,000 บาท

5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 8,750 บาทต่อเดือน

6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 6,125 บาทต่อเดือน

ปี 2572-2574 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 20,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน โดยสิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ

1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 10,000 บาทต่อเดือน (333 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 60,000 บาท)

2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 30,000 บาทต่อครั้ง

3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 10,000 บาทต่อเดือน

4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 120,000 บาท

5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 10,000 บาทต่อเดือน

6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 7,000 บาทต่อเดือน

ปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 23,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือนโดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ

1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 11,500 บาทต่อเดือน (383 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 69,000 บาท)

2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 34,500 บาทต่อครั้ง

3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 11,500 บาทต่อเดือน

4.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 138,000 บาท

5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 11,500 บาทต่อเดือน

6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,600 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 8,050 บาทต่อเดือน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์

ประกันสังคม