ประกาศให้เคสมือถือ-แท็ปเล็ต บางชนิด เป็นสินค้าควบคุม ต้องติดคำเตือนบนฉลาก

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๖๑) เรื่อง ให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต
ที่มีการนําสารเคมีมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก มีรายละเอียดระบุว่า

ด้วยปัจจุบันพบว่ามีการจําหน่ายอุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวบรรจุอยู่ภายใน และมีข่าวว่ามีผู้ได้รับอันตราย จากสารเคมีที่รั่วไหลออกมา จากข้อมูลผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่าของเหลวที่บรรจุอยู่ภายใน เป็นสารเคมี เช่น เดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) หากสินค้าดังกล่าวเกิดการชํารุดและสารเคมีรั่วไหลออกมาอาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับ อันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าดังกล่าว จึงสมควรกําหนดให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็น บทบัญญัติในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกําหนดการแสดงฉลาก ของสินค้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงในสาระสําคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนํา สารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายใน” หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้สําหรับห่อหุ้มโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีสารเดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) หรือสารอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกรดมาบรรจุไว้ภายใน

ข้อ ๒ ให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย

คําเตือน ต้องระบุว่า “อันตรายหากของเหลวรั่วไหล” ทั้งนี้ ข้อความที่เป็น “คําเตือน”

ต้องใช้ตัวอักษรที่มีสีต่างจากสีพื้นผิวผลิตภัณฑ์ และมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่นแสดงไว้ในลักษณะคงทน ที่ผลิตภัณฑ์

ข้อ ๔ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
พลตํารวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ทั้งนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากสินค้านั้น ถือเป็นมาตรการของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)จะเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดว่าให้ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าต้องจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลที่สำ คัญของสินค้านั้นไว้บน “ฉลากสินค้า” เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แก่ผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ดังนั้นสคบ.จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541

กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้าเพื่อขายต้องจัดทำฉลากสินค้า โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้า ชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปี ที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากสินค้าหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ รวมถึงเอกสารแผ่นพับต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังได้ระบุโทษไว้ว่า กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ

คลิกอ่าน : ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๖๑)

 

ที่มา  มติชนออนไลน์