“เครือข่ายขอคืนดอยสุเทพ” จี้ยุติ-ย้ายออก”บ้านพักตุลาการ”-นักวิชาการประสานเสียงพท.ไม่เหมาะอยู่อาศัย

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประสานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีปัญหาการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ล่าสุดฝ่ายธุรการ สำนักงานศาลยุติธรรมไม่อนุญาตให้คณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างและการฟื้นฟูเพื่อให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ กรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ (อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ทั้งสองชุดเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงในการประกอบข้อเสนอแนะคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับประเทศ เหตุเกิดบ่ายวันที่ 12 มิถุนายน ทั้งที่มีการทำหนังสือขอไปอย่างเป็นทางการนั้น ว่าเป็นการแสดงถึงความไม่จริงใจของศาล เพราะคณะอนุกรรมการมีอำนาจชอบธรรมในการที่จะเข้าพื้นที่ แต่กลับยังคงยื้อ ซึ่งนี่คือข้อเสียของศาล

นายธีระศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของนักวิชาการที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ทราบว่างานก่อสร้างบ้านพักจำนวน 45 หลังที่มีกำหนดส่งมอบต่อศาลในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ไม่มีทางแล้วเสร็จ ดังนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะนำมาอ้างได้อีกที่ว่ารัฐจะถูกฟ้องร้อง เพราะไม่ใช่ความผิดของรัฐแต่การก่อสร้างดำเนินการล่าช้าเอง จึงควรยุติการก่อสร้างทั้งหมดและจ่ายเงินแค่งวดงานที่ทำได้โดยไม่ต้องต่อสัญญาจ้างอีกต่อไป เพราะเป็นความผิดของผู้รับเหมาเอง

“ประเด็นที่สองให้ทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ให้ใครเข้าไปอยู่ ดังนั้นในวันที่ 18 มิถุนายนนี้เป็นต้นไปดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่เข้าไปอยู่ในอาคารชุด 9 หลัง ที่รุกล้ำแนวป่าดั้งเดิมย้ายออกไปโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม พร้อมให้ศาลเร่งคืนพื้นที่กลับให้ธนารักษ์เป็นการด่วน” นายธีระศักดิ์กล่าว

นายธีระศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดใหญ่ระดับจังหวัดเพื่อขอให้คณะอนุกรรมการทั้งสองชุดเข้าพื้นที่อีกครั้งโดยด่วน ก่อนที่จะนำข้อเสนอแนะรายงานคณะกรรมการชุดใหญ่ และยืนยันว่าคณะอนุกรรมการมีสิทธิ์เข้าพื้นที่ เพราะได้รับการแต่งตั้งโดยภาครัฐ ศาลไม่มีสิทธิ์บิดพลิ้ว และเพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนวันที่ 18 มิถุนายนนี้ก็จะเข้าไปปักป้ายข้อความ No Man’s Land บริเวณเนินหินที่จะมีการเปิดทางเข้าพื้นที่ข้างศาลในเร็วๆ นี้ ส่วนการเคลื่อนไหวในวันที่ 19 มิถุนายนนั้น มีการเตรียมการไว้แล้วแต่ขอหารือรูปแบบในส่วนของเครือข่ายก่อน

นายบรรจง สมบูรณ์ชัย หรือหมอต้นไม้ นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า จากการเข้าไปในพื้นที่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลเรื่องที่ดินที่มีความลาดชันสูงมาก อาคารที่ก่อสร้างบนพื้นที่ลาดชัน ทำให้เกิดดินไหลมีตะกอนลงสู่ลำห้วยและลำน้ำใกล้เคียงจำนวนมาก พบต้นไม้และป่าไม้ถูกตัด และต้นไม้ที่ล้อมมาจากที่อื่น สภาพน่าสงสาร เพราะมีการตัดชั้นดินเพื่อสร้างอาคาร มีการนำดินมาคลุมต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ยอดด้วน หัวกุด ไม่มีกิ่งก้าน และใบ เรียกว่าไม่มีต้นไม้ต้นไหนรอดชีวิต เพราะไม่ได้รับการดูแล

และยังพบว่างานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการปรับสภาพภูมิทัศน์ที่มีปัญหามากมาย และจะต้องใช้ทุนมหาศาลในการฟื้นฟูกลับคืนสภาพป่าแบบเดิม พื้นที่ร่องน้ำที่ควรใช้เพื่อการดูดซับกรณีน้ำหลาก กลับพบการปรับและตัดหน้าดินจนแทบจะไม่มีอะไรสามารถป้องกันหน้าดินและพร้อมที่จะไหลงลงไปยังลำห้วยข้างล่างในสภาพขุ่นแดงทั้งที่ฝนยังตกไม่มาก แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ บ้านหลังเดี่ยวที่สร้างอยู่บนสุด ซึ่งทราบว่าจะเป็นบ้านของประธานศาลสูงสุด สภาพดินถูกตัด กำแพงตั้งลักษณะแหงนคอตั้งบ่า เรียกว่าชันมากเกินกว่าบ้าน 2 ชั้น เป็นจุดที่วิวสวยที่สุด ซึ่งในพื้นที่บริเวณนี้จะมีบ้านเดี่ยวรวม 7 หลัง เพราะประธานศาลมี 7 คน แต่เป็นจุดที่อันตรายมาก เพราะความไม่มั่นคงของโครงสร้างกำแพงที่ลดหลั่นกันลงไปตามความชันของพื้นที่ก่อให้เกิดช่องโหว่ที่เสี่ยงต่อฐานรากพังทลายหากน้ำหลากหรือน้ำเซาะ เนื่องจากหน้าดินเปลือยหมดดินไม่แน่น แม้ว่าทั้ง 45 หลัง จะยังไม่มีคนเข้าอยู่อาศัยเพราะสภาพโดยรวมยังไม่เสร็จ แต่ภายในมีการนำเฟอร์นิเจอร์ ติดผ้าม่าน น้ำ ไฟ พร้อมแล้ว หิ้วกระเป๋าใบเดียวเข้าไปอยู่ได้เลย

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มช. กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านพักตุลาการ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ในฐานะกรรมการของจังหวัด ลงพื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการเก็บข้อมูลการใช้พื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นความเหมาะสมของการเลือกพื้นที่และควรรื้อหรือไม่

“ยืนยันว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสมมาตั้งแต่แรกที่ถูกเลือกใช้จุดนี้ ผมทำงานอย่างเป็นกลาง เพราะรับปากทั้งภาครัฐและประชาชนมาว่าจะดูทุกอย่างแบบรอบด้าน สรุปคือ พื้นที่มีความลาดชันสูง เสี่ยง ไม่ควรอยู่ ซึ่งขณะนี้กำลังทำดาต้าเพื่อให้เห็นภาพชัดก่อนเสนอแนะต่อที่ประชุมคณะกรรมการต่อไป” รศ.ชูโชคกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะในเพจ “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” พร้อมเรียกร้องเป็นภาพคำเมืองว่า “ลงมาเตอะ ท่านเตวดาเจ้าขา” แปลความหมายว่า ลงมาเถอะท่านเทวดาเจ้าขา เพราะเป็นเขตห้ามอยู่อาศัย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์