Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ช่วงที่ผ่านมา คนไทยยังตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเหล่ามิจฉาชีพไม่เว้นวัน ทำให้รัฐบาล หน่วยงานด้านการเงิน หาสารพัดวิธีหยุดความเสียหาย หยุดภัยทางการเงิน และสู้กลเหล่ามิจฉาชีพ ที่ฉลาดแกมโกงขึ้นทุกวัน
Prachachat BITE SIZE ชวนสำรวจสารพัดมาตรการที่รัฐบาล และหน่วยงานรัฐดำเนินการ เพื่อสกัดพี่มิจฯ ว่าจะมีอะไรบ้าง
ยกระดับเข้ม ‘บัญชีม้า’
เรื่องแรก คือ การเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการบัญชีม้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มความเข้มข้นในหลายด้าน ทั้งการกวาดล้างบัญชีม้า การจัดการ จำกัดธุรกรรมบัญชีม้า จนถึงการแชร์ข้อมูลร่วมกันระหว่างธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความเสียหายได้รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น
โดยมาตรการใหม่นี้ เพิ่มการแบ่งบัญชีม้า เดิม 3 สี ดำ, เทา, น้ำตาล เป็น 5 สี มีระดับสีเข้ม-อ่อน เพิ่มมาด้วย และเพิ่มความเข้มข้นการจำกัดธุรกรรม ทั้งกันเงินเข้า กันเงินออก และกันเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งภายในมีนาคมนี้ การจำกัดธุรกรรม จะครอบคลุมบัญชีม้าทุกเฉด ยกเว้น บัญชีม้าสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งยังเป็นระดับต้องสงสัย ให้ดำเนินการไปตามนโยบายบริหารความเสี่ยงของธนาคารนั้น ๆ
ส่วนการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน กำหนดให้ธนาคารต้องแชร์รายชื่อบุคคลที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยเป็นบัญชีม้า ทุกเฉด เพื่อให้ธนาคารดำเนินการป้องกันภัยทุจริตได้ครอบคลุม รวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น
นอกจากการปราบบัญชีม้าที่เข้มข้น ช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติ มีการเพิ่มมาตรการเพื่อคุ้มครองลูกค้าผู้ใช้โมบายแบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสแกนหน้าก่อนทำธุรกรรมมูลค่าสูง จำกัดจำนวนเครื่องที่ใช้งานโมบายแบงกิ้ง ไม่ส่งลิงก์ SMS จากธนาคาร จนถึงการให้ธนาคารเพิ่มบริการให้ลูกค้า ตั้งแต่การแจ้งเตือน การปรับวงเงินที่ต้องสแกนหน้า จนถึงโหมดล็อกบัญชี โหมดปลอดมิจฉาชีพ
ผู้ใช้แอปธนาคาร-เบอร์มือถือ ต้องชื่อเดียวกัน
มาตรการถัดมา คือ การกำหนดให้ผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง และเจ้าของเบอร์มือถือ ต้องเป็นชื่อเดียวกัน เพื่อยกระดับความปลอดภัยการใช้งาน Mobile Banking อีกทางหนึ่ง
โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จำนวนกว่า 120 ล้านหมายเลข พบกลุ่มที่ต้องจัดการ คือ กลุ่ม N และกลุ่ม P กว่า 44 ล้านเลขหมาย
แต่กลุ่มที่จะต้องดำเนินการก่อน มี 2 กลุ่ม รวมกันกว่า 3.1 ล้านคน คือ
1. กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีและโมบายแบงกิ้ง ตั้งแต่มกราคม ปี พ.ศ. 2565 ที่ข้อมูล Passport ผู้ถือครองซิมการ์ดโมบายแบงกิ้งกับเจ้าของบัญชีธนาคาร ไม่ตรงกัน
2. กลุ่มลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีและโมบายแบงกิ้ง ตั้งแต่มกราคม ปี พ.ศ. 2565 ที่ทาง กสทช.แจ้งว่าปัจจุบันไม่พบข้อมูลผู้ถือครองซิมการ์ด
ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีแจ้งเตือนจากธนาคาร ผ่านโมบายแบงกิ้ง เพื่อจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว ไม่มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS และไม่มีการโทรศัพท์จากธนาคารติดต่อไป เพื่อให้แก้ไขข้อมูล โดยจะทยอยส่งการแจ้งเตือนไปยังลูกค้ากลุ่มที่ต้องจัดการ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบวันที่ส่งแจ้งเตือนกับแต่ละธนาคารอีกครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่ได้แจ้งเตือน ไม่ต้องจัดการใด ๆ ในช่วงนี้
สำหรับผู้ที่ได้แจ้งเตือน สามารถจัดการได้ 2 ทาง คือ ไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของซิม หรือเปลี่ยนเบอร์ที่ผูกโมบายแบงกิ้ง ให้เป็นเบอร์ของเรา ก่อน 30 เมษายนนี้ ไม่อย่างนั้น บัญชีโมบายแบงกิ้ง อาจถูกระงับ
แต่จะมี 3 กรณีที่ยกเว้นให้ คือ เป็นคนในครอบครัว, เป็นเบอร์นิติบุคคล อนุญาตให้พนักงานใช้ และกรณีผู้พิการ ก็สามารถนำเอกสารตามที่กำหนด ติดต่อธนาคาร เพื่อขอยกเว้นจากมาตรการนี้
แต่สำหรับใครที่อยากเช็กเบื้องต้นว่า ชื่อผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง และชื่อเจ้าของเบอร์มือถือ ตรงกันหรือไม่ สามารถทำได้โดยการกด “*179*หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก#” แล้วโทร.ออก จากนั้นจะได้รับข้อความตอบกลับว่า หมายเลขบัตรประชาชน ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือไม่
ถ้าระบบตอบกลับว่าตรงกัน ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ไปแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด แต่กรณีประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ กระทรวงดีอี ย้ำแล้วว่า ยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ แม้ชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์จะไม่ตรงกับเจ้าของโมบายแบงกิ้ง
แก้ พ.ร.ก.ไซเบอร์ แบงก์-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ
นอกจากการมีมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายจากมิจฉาชีพแล้ว คณะรัฐมนตรี ยังมีการเห็นชอบ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลในเดือนกุมภาพันธ์นี้
สาระสำคัญหลัก ๆ ของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว คือ ควบคุมแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด การให้อำนาจค่ายมือถือระงับซิม การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย การเพิ่มโทษผู้เกี่ยวข้อง ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดให้แบงก์-ค่ายมือถือ-โซเชียลมีเดีย ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
แต่ส่วนที่ยังไม่เห็น คือ สัดส่วนการรับผิดชอบความเสียหาย ว่าแบงก์ และค่ายมือถือ จะมีขอบเขตหรือมีส่วนต้องรับผิดชอบความเสียหายลูกค้าจากการถูกหลอกอย่างไร
สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยความคืบหน้าการพูดคุยส่วนของความรับผิดชอบร่วม ตามกฎหมายดังกล่าว มีการพูดคุยต่อเนื่องในแนวนโยบายและหลักเกณฑ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่เบื้องต้นคาดว่าข้อสรุปจะทันกฎหมายบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2568 นี้
พร้อมทั้งระบุว่า ทุกภาคส่วนในระบบนิเวศต้องยกระดับและร่วมมือกันในการจัดการปัญหาภัยทางการเงิน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เช่นเดียวกับ ธปท. จะประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ธนาคารพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้กำกับดูแลด้านอื่น ๆ ต่อไป
แม้ว่ารัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการออกมาตรการ ออกวิธีการเพื่อป้องกันความเสียหายจากเหล่าพี่มิจฯ แล้ว แต่เราทุกคนก็ควรทำธุรกรรมอย่างมีสติ อย่าหลงเชื่อเหล่ามิจฉาชีพ เพื่อให้เงินในบัญชีปลอดภัยเสมอ
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.93 ได้ที่ https://youtu.be/kruj1I-2jto
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ