‘พิรงรอง Effect’ สู่วงเสวนา เพื่อมองทิศทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อจากนี้

พิรงรอง Effect

นิเทศ จุฬาฯ ตั้งวงเสวนา ‘พิรงรอง Effect’ ธงทอง เตือนนักกฎหมาย พิจารณารอบคอบ อย่าตกเป็นเครื่องมือ อาจารย์นิติ ห่วงผลกระทบเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่กล้าเสี่ยงคุ้มครองสิทธิประชาชน ขณะที่อดีต กสทช. จี้เคาะกฎหมายควบคุมธุรกิจสื่อ OTT

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เรื่อง ” พิรงรอง Effect ” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ โดยมี ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกสทช. นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และนายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนา

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พระราชทานแก่นักกฎหมายในหลายวาระ ว่า “นักกฏหมายอย่าเผลอนึกว่าตัวกฎหมายนั้นเป็นตัวยุติธรรมที่แท้ กฎหมายนั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรมเท่านั้น ฉะนั้นนักกฎหมายไม่ใช่เพียงแค่คนที่เดินตามตัวบทกฎหมายแต่ต้องดูเจตนารมณ์ ผลข้างเคียง ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เป็นกรณีพิพาท การตัดสินคดีพิพาทต้องดูทั้งข้อเท็จจริง กฎหมายริบทแวดล้อม

“ในการฟ้องดำเนินคดีไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศมีบ่อยครั้งที่พบว่า ผู้ที่นำคดีเข้าสู่ศาล ไม่ได้ต้องการเพียงแค่การแพ้ชนะเท่านั้นแต่ต้องการผลข้างเคียงอื่นๆที่ตามมาด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย จึงอยากบอกนักกฎหมายทั้งหลายว่า ควรมีความรอบคอบอย่าตกเป็นเครื่องมือในการใช้กฎหมายเพื่อเดินออกไปนอกทางของความยุติธรรม” ศ.พิเศษธงทอง กล่าว

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า หลายคนคงรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่าในมุมหนึ่ง กรณีของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทย และต่ออุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนพอสมควร ในส่วนมุมมองนิติธรรมส่วนตัวเห็นด้วยว่าต้องให้นักกฎหมาย ใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด แต่ในเรื่องของการทำหน้าที่ของกสทช.ที่อยู่ในสภาพวิกฤตมานานทำให้สังคมหันกลับมาให้ความสนใจ บทบาทของ กสทช. อีกครั้ง

“ทั้งนี้สื่อสารมวลชนไทยอยู่ในจุดที่ลำบากมากแล้วไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของโทรคมนาคมที่อยู่ในจุดทางตันในยุคดิจิทัล รวมไปถึงอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ในการแข่งขันของโลกดิจิทัล ถือว่าอยู่ในจุดที่ยากลำบาก เนื่องจากแพลตฟอร์มใหม่ๆจะเข้ามาแทนที่การดูโทรทัศน์ ถ้าไม่มีการเข้ามากำกับดูแล ก็จะส่งผลไปยังผู้ผลิตและผู้บริโภค การตื่นตัวครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะมีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ADVERTISMENT

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า ความสัมพันธ์ของกสทช.ที่เปรียบเสมือนผู้ดูแลสื่อสารมวลชน อาจมีขัดแย้งระหว่างผู้ดูแลกับผู้ถูกดูแลเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในกระบวนการทำงานมีทางออกเพื่อขจัดความขัดแย้งเสมอ ฉะนั้นในหลายๆกรณีที่เกิดความขัดแย้งสามารถที่จะมีการพูดคุยกันก่อนได้

อย่างในกรณีนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเข้ามาจึงมีการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อกำกับดูแล จนเกิดความขัดแย้งกับผู้ประกอบการ สิ่งที่ควรจะเป็น คือเมื่อมีกฎออกมาแล้วซึ่งในกรณีนี้คือ กฎ must carry ควรจะเป็นหน้าที่ของกสทช. ที่จะต้องทำงานกำกับดูแลแก้ไข โดยการออกจดหมายเวียนไปยังผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือ กิจการโทรทัศน์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจดหมายนี้ไม่ได้มีอำนาจในการชี้คุณหรือโทษทางปกครอง

ADVERTISMENT

แต่ถ้าจดหมายที่ร้องเรียนออกไปแล้วกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถส่งจดหมายโต้แย้งกลับมาได้ หรือหากยังไม่พอใจสามารถส่งเรื่องเข้าไปที่ประชุมกรรมการของกสทช.ได้ และสุดท้ายหากยังไม่พอใจสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือการไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง

“ในอดีตเคยมีกรณี ฟ้องร้องในศาลอาญาเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่สามารถคลี่คลายได้ ในชั้น การตัดสินของศาลปกครองกรณีนี้หลายฝ่ายต่างก็รอดูคำพิพากษาของศาลอาญา ที่มีคำสั่งจำคุก ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง ฉบับเต็มอยู่เพื่อดูแนวทางของภาพรวมในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดอีกครั้ง ในความเป็นจริงดิฉันคิดว่ามีทางเลือกอื่นๆที่ควรจะเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่านี้ได้”น.ส.สุภิญญา กล่าว

นายระวี กล่าวว่า IPTV หรือ Internet Protocol Television คือ การนำเอาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาประยุกต์ให้เข้ากับการเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ผ่านสาย ซึ่งทำให้คุณภาพของภาพและเสียงนั้นมีความคมชัดกว่าสัญญาณคลื่นความถี่แบบเดิม

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตต่างๆเกิดขึ้นมาซึ่งไม่ได้ส่งสัญญาณผ่านสายแต่เป็นการส่งสัญญานทางอากาศจึงเกิดเป็น Over-The-Top media service หรือบริการโอทีที (OTT) คือบริการสื่อที่นําเสนอโดยตรงกับผู้รับบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตตามบริษัทที่ทําหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหรือผู้จัดจําหน่ายเนื้อหา

นายระวี กล่าวต่อว่า ในกฎหมายควบคุมสื่อสารมวลชนของกสทช.ยังใช้กฎหมายฉบับเก่าที่พูดถึงการควบคุม IPTV เพียงเท่านั้น ยังไม่มีการทำกฎหมายเพื่อควบคุม OTT แต่อย่างใด โดยเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้มีแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติและตั้งคณะการทำงานเพื่อดูแล OTT ที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศโดยเฉพาะขึ้นมา

แต่ร่างนี้ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.แต่อย่างใด และเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่กำกับ OTT ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดในประเทศที่มากำกับดูแล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟ้องร้อง และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกฎหมายที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลแต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาของสื่อใน OTT ทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนที่จะกำกับดูแลเนื้อหาสำหรับบุตรหลานหรือใครก็ตามของสื่อ OTT ในเวลานี้

“ผมจึงอยากตั้งคำถามว่าเมื่อไร ถึงจะมีการตั้งกฎหมายเพื่อมาควบคุม OTT อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะมี เพราะธุรกิจประเภทนี้เติบโตขึ้นทุกวัน หากไม่มีการควบคุมผลต่อมาคือธุรกิจทีวีดิจิทัลจะไม่มีงบในการจ่ายเงินให้กับพนักงานจนต้องตัดพนักงานออกไป เนื่องจากการขายโฆษณาผ่านทางผู้ให้บริการ OTT นั้นได้ผลกว่าการขายให้กับสถานีโทรทัศน์ทั่วไป รวมไปถึงเนื้อหาต่างๆที่ไม่ได้ถูกควบคุม ทั้งที่ควรจะมีคนเข้ามากำกับดูแลเช่นกัน” นายระวี กล่าว

นายณรงค์เดช กล่าวว่า กฏหมายจะมีช่องทางที่โต้แย้งการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าวัตถุประสงค์คืออะไร ถ้าคิดว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการกระทำที่มิชอบก็อาจจะมีการอุทธรณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและไปฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อถอนคำสั่งที่ออกโดยมิชอบ หรือ ฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย

แต่มีอีกกรณีหนึ่งคือการฟ้องอาญาเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากมองว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่มีความรุนแรง โดยการฟ้องอาญาวัตถุประสงค์คือการทำให้ติดคุกติดตาราง ซึ่งในกรณีของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นการฟ้องอาญา ถือว่าเป็นกรณีพิเศษและไม่ปกติ เพราะในความเป็นจริงควรจะมีการฟ้องศาลปกครองเสียก่อน

“สำหรับจดหมายข่าวของศาลที่เผยแพร่ออกมาทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคนที่ออกจดหมายไปยังผู้ประกอบการถึงไม่ถูกฟ้อง มีเพียง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เท่านั้นที่ถูกฟ้องดูเป็นเรื่องแปล อย่างไรก็ตามจดหมายข่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำพิพากษาเท่านั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุใด ศ.กิตติคุณดร.พิรงรอง จึงถูกฟ้องเพียงคนเดียว ดังนั้นขณะนี้หลายฝ่ายจึงรอคำพิพากษาฉบับเต็ม เพื่อดูรายละเอียดต่อไป”นายณรงค์เดช กล่าว

นายณรงค์เดช กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับกรณีนี้สิ่งที่จะส่งผลต่อเจ้าหน้าที่รัฐคืออย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เรื่องใดที่เสี่ยงอย่าเข้าไปทำ เพราะจะทำให้ถูกฟ้องร้องได้ ตนจึงต้องบอกว่าเรามีเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ถ้าพูดในบริบทของ กสทช. ถ้ามีทีวีช่องหนึ่งโฆษณาเกินความจำเป็น กสทช.ก็ต้องเข้ามาดูแลผู้บริโภคไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบจนเกินไปแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วย การถูกฟ้องแบบนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความกลัว และกรณีของศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองจะทำให้เกิดความกลัวมากยิ่งขึ้น

“ผมเชื่อว่าความสุจริตจะคุ้มครองคนที่สุจริต และถ้าอ่านจดหมายข่าวมันจะสะท้อนกลไกการทำงานของกสทช.ที่แสดงให้เห็นปัญหาตั้งแต่เรืองของคำสั่ง คำพูดในที่ประชุม ซึ่งหลุดออกมา กระบวนการประชุมแบบนี้ต้องกล้าพูดได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมีกระบวนการเก็บความลับที่ดี

ดังนั้นผมจึงห่วงเรื่องของกระบวนการรักษาความลับในที่ประชุมในของหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้จดหมายที่แจ้งเตือนแล้วเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องครั้งนี้แจ้งไปยังผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือ กิจการโทรทัศน์ ถ้าเป็นคำเตือนที่ไม่ได้เป็นคำขู่หรือคำสั่ง ก็ไม่ควรมีผลทางกฎหมาย ฉะนั้นต้องรอดูเนื้อหาในจดหมายด้วยว่า เป็นคำเตือนที่รุนแรงมากน้อยเพียงใด จึงส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องขึ้น” นายณรงค์เดช กล่าว