กรมอุตุฯ เปิด 2 เกณฑ์หลัก ประกาศเข้าสู่ “ฤดูร้อน” 2568

พระอาทิตย์ขึ้น
เครดิตภาพ : ORAPIN WACHANGNGOEN

กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า (10-24 ก.พ. 68) เผยช่วงวันที่ 16-24 ก.พ. 68 ทิศทางลมเริ่มแปรปรวน อากาศร้อนขึ้น และมีฝนเกิดขึ้นได้ในช่วงแรก เปิด 2 เกณฑ์หลักประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิต้องสูงถึง 35 องศาเซลเซียสขึ้นไปต่อเนื่อง 1-2 วัน

นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในรายการ อุตุนิยมวิทยารับใช้ประชาชน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงเกณฑ์การประกาศเข้าสู่ “ฤดูร้อน” ของประเทศไทยว่า มีปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย คือ

1.อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่มากกว่า 35 องศาเซลเซียสขึ้นไปบริเวณประเทศไทยตอนบน กล่าวคือโดยทั่วไปก็จะร้อนขึ้น หรือ 35 องศา ปกคลุมบริเวณทางภาคเหนือ ภาค อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำให้เราพิจารณาเป็นเกณฑ์แรก อาจจะ 1 วันหรือ 2 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป

2.เกณฑ์ในเรื่องของลม ทิศทางของลม จากเดิมที่เรามีลมหนาวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนลงมา แต่ต่อจากนี้ไปเมื่อเปลี่ยนเป็นฤดูร้อนจะเป็นลมทิศใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ลมฝ่ายใต้พัดเข้ามาแทนที่

“เกณฑ์ที่จะเปลี่ยนเข้าฤดูร้อนคือ 2 เกณฑ์ใหญ่นี้ และอากาศร้อนก็จะพิจารณาจากอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะไม่เกิน 40 องศา คือจะอยู่ที่ 39.5 องศา เพราะถ้าเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เราจะเรียกว่าเป็นอากาศร้อนจัด หรือตั้งแต่ 40.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป” นายสมควรกล่าว

คาดฤดูร้อนมาช้า 2 สัปดาห์

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศ ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2568 ว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่าจะเริ่มช้ากว่าปกติ (ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม

ADVERTISMENT

ส่วนลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วงและจะมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในบางวัน ส่วนมากช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน

อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35 – 36 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2567 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37.5 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 – 20

ADVERTISMENT

และในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง

พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยายังได้อัพเดตผลการพยากรณ์ 15 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 10-24 ก.พ. 2568 โดยแบ่งช่วงการพยากรณ์อากาศดังนี้

วันนี้ (10 ก.พ. 68) มวลอากาศเย็นยังคงแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน แต่มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลง ทำให้ลมหนาวยังคงพัดปกคลุมแต่เริ่มเบาลง อุณหภูมิมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เป็นปลายช่วงฤดูหนาวปีนี้แล้ว ต้องระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ (ด้านตะวันออกของประเทศเวียดนาม) มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนาม ทำให้มีเมฆเพิ่มขึ้น ฝนเล็กน้อย เกิดขึ้นในบริเวณภาคใต้

ช่วงวันที่ 11-15 ก.พ. 68 มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง อุณหภูมิจะสูงขึ้น กลางวันมีอากาศร้อน แต่ยังไม่ถึงร้อนจัด ลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลงด้วย มีฝนเล็กน้อยบริเวณภาคอีสานตอนล่างและภาคตะวันออก ฝุ่นจะเริ่มสะสมเพิ่มขึ้นได้

ช่วงวันที่ 16-24 ก.พ. 68 ทิศทางลมเริ่มแปรปรวน โดยมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับบน พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และมีลมทิศใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก

และปลายช่วงของการพยากรณ์ (20-23 ก.พ.) ยังมีมวลอากาศเย็นแผ่เสริมลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคอีสานและทะเลจีนใต้ ทำให้ลมที่พัดปกคลุมเป็นลมตะวันออก เริ่มมีฝนเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกบริเวณประเทศไทย ปริมาณยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังต้องติดตามเนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล สภาพอากาศมีความแปรปรวน

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)

พยากรณ์อากาศ 7 วัน 10-16 ก.พ.68

ทางด้าน เพจฟ้าฝน พยากรณ์อากาศประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ 11 ก.พ. 68 อากาศจะอุ่นขึ้นเล็กน้อย, 12-23 ก.พ. อุ่นขึ้น, 24 ก.พ. มีเย็นลงเล็กน้อย, 25 ก.พ. อุ่นขึ้น ! (ดูภาพกราฟิกประกอบ)

ที่มา : เพจฟ้าฝน พยากรณ์อากาศประเทศไทย