
ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2567 ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก ลดลง 1 อันดับ จากปีก่อนหน้านี้ ขณะที่อันดับ 1 โลก ‘เดนมาร์ก’ คะแนนสูงสุด 90 คะแนน
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2567 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก
ผลการสำรวจพบว่า
- อันดับ 1 คือ ประเทศเดนมาร์ก ได้คะแนนสูงที่สุด 90 คะแนน
- อันดับ 2 คือ ประเทศฟินแลนด์ ได้ 88 คะแนน
- อันดับ 3 คือ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน
ขณะที่ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567 นั้น เป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง
โดยประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 5 แหล่ง คือ BF(TI) เพิ่มขึ้นจาก 33 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน, PRS เพิ่มขึ้นจาก 32 คะแนนในปี 2566 เป็น 33 คะแนน, V-DEM เพิ่มขึ้นจาก 26 คะแนนในปี 2566 เป็น 29 คะแนน, PERC เพิ่มขึ้นจาก 37 คะแนนในปี 2566 เป็น 41 คะแนน, และ WJP เพิ่มขึ้นจาก 33 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน
ได้คะแนนลดลง 4 แหล่ง คือ IMD ลดลงจาก 43 คะแนนในปี 2566 เป็น 36 คะแนน, WEF ลดลงจาก 36 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน, EIU ลดลงจาก 37 คะแนนในปี 2566 เป็น 35 คะแนน, และ GI ลดลงจาก 35 คะแนนในปี 2566 เป็น 32 คะแนน
ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยงหรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งดัชนีดังกล่าวสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริต