
ลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว เช็กวิธีสมัคร-ลงทะเบียน สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เตือนหมดเขตวันสุดท้าย วันที่ 30 เมษายน 2568 “แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์” เผยล่าสุดยังลงทะเบียนกันน้อย ขณะที่แบงก์ชี้ลูกหนี้จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ค่อนข้างมาก และลดภาระดอกเบี้ยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศเปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SMEs โดยครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท
จากเดิมเปิดให้ลงทะเบียนทาง เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แต่ล่าสุด ธปท.ได้ขยายระยะเวลาการสมัครเข้าโครงการ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 เพื่อเพิ่มโอกาสที่ลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ล่าสุด นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยถึงมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ 8.2 แสนราย หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีอยู่ที่ 9.9 แสนบัญชี ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 6.3 แสนราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพียง 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ลงทะเบียน เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ สาเหตุที่ลูกหนี้เข้ามาลงทะเบียนค่อนข้างน้อย มาจาก 3 ส่วนหลัก 1.ลงทะเบียนผิดเจ้าหนี้ 2.ผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่ได้ค้างชำระหนี้ 3.ลูกหนี้มียอดวงเงินเกินกำหนด และ 4.ลูกหนี้ปิดบัญชีไปแล้ว
“ในช่วงสัปดาห์แรกมียอดผู้ลงทะเบียนค่อนข้างเยอะ และทยอยปรับลดลง ส่งผลให้ ธปท.จะต้องมีการสื่อสารไปยังลูกหนี้ใหม่ โดยให้แบงก์สื่อสารส่งข้อความ SMS ผ่านโมบายแบงกิ้ง และคอลเซ็นเตอร์ถึงลูกหนี้ ซึ่งบ้านเป็นกลุ่มที่ติดต่อกลับสูงสุด แต่เช่าซื้อแบงก์ไม่สามารถติดต่อลูกค้า ส่วนหนึ่งมาจากกังวลลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่ม และการรายงานเครดิตบูโร”
ทางด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” คาดว่าจะช่วยลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก จำนวน 2.1 ล้านบัญชี 1.9 ล้านราย แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมไม่มาก ทั้งนี้ ล่าสุดยังมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมเพียง 746,912 บัญชี จากลูกหนี้ 642,030 ราย (ณ 10 ก.พ. 68) ซึ่งล่าสุดมีการขยายเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2568
“คงต้องขยายการประชาสัมพันธ์ และสร้างการเข้าถึงให้กับลูกหนี้ต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้ได้เร็วขึ้น เพราะว่ามาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ลดเงินต้นได้ค่อนข้างมาก ในช่วงที่เข้าโครงการ” นายดนุชากล่าว
ขณะที่นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นั้น แทบจะเป็นโครงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ปรับได้ลึกที่สุดตั้งแต่เคยมีมาตรการลักษณะนี้มา ซึ่งลูกหนี้จะได้ประโยชน์เยอะมาก เพราะมีรัฐกับธนาคารช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้แบบเต็ม ๆ ช่วง 3 ปีที่เข้าร่วมมาตรการ ดังนั้นถ้าเข้าร่วมโครงการก็จะช่วยให้ลดภาระดอกเบี้ยได้อย่างมีนัยสำคัญ
2 มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย”
1.มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมากให้สามารถคงทรัพย์สินที่ใช้ในการดำรงชีพและประกอบอาชีพเอาไว้ได้ สำหรับสินเชื่อบ้าน/Home for Cash ไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาท
โดยมาตรการดังกลาวจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และ “พักภาระดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ “ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น” ตามเงื่อนไข
2.มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ NPL แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อ “ปิดหนี้ได้ทันที”
ประชาชนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ระบบลงทะเบียนของ ธปท. (www.bot.or.th/khunsoo) หรือติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่ง ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
วิธีลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย”
สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียนดังนี้
1. เข้าสู่เว็บไซต์ “คุณสู้ เราช่วย” : https://www.bot.or.th/khunsoo
2. ตรวจสอบรายละเอียดมาตรการ คุณสมบัติ และเงื่อนไขการเข้าร่วมก่อนลงทะเบียน จากนั้นกดยอมรับ
3. สมัครเข้าใช้ระบบด้วยอีเมล์ หรือแอปพลิเคชั่น ThaID โดยสแกน QR บนแอป เพื่อยืนยันตัวตน
4. กรอกข้อมูลลงทะเบียนให้ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ-สกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์ติดต่อ และอีเมล์
5. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือกผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง/ประเภท สามารถกดเพิ่มได้
6. ลงทะเบียนเสร็จสิ้น ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้เพื่อติดตามสถานะการลงทะเบียน
ทั้งนี้เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ทางเจ้าหนี้จะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 68 เป็นต้นไป และสามารถตรวจสอบสถานะได้ทางเว็บไซต์ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”