พาณิชย์เล็งปล่อย 5 ธุรกิจ และ 10 อาชีพต้องสงวน

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย (บัญชี 3) ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวใน 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการด้านการบัญชี ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ให้กับบริษัทในเครือ ธุรกิจบริการด้านกฎหมาย ธุรกิจบริการให้เช่าพื้นที่และสาธารณูปโภค และธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ ให้สามารถประกอบธุรกิจได้เลย

ซึ่งเดิมธุรกิจเหล่านี้ต้องมาขออนุญาตกับกระทรวง โดยอยู่ระหว่างการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สภาวิชาชีพบัญชี สภาทนายความ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ การนิคมอุตสาหกรรม ว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เท่าที่ทราบหน่วยงานที่สอบถามไปเห็นด้วย ซึ่งจะนำข้อสรุปเสนอให้กับคณะกรรมการการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ในเดือนกรกฎาคมนี้ หากที่ประชุมมีมติเห็นด้วย ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า กรมจะมีการถอดธุรกิจบริการส่งไปรษณีย์ภัณฑ์เร่งด่วน ในบัญชีแนบท้าย เพื่อรองรับธุรกิจโลจิสติกส์ โดยจะเปิดให้คนต่างด้าวมาทำธุรกิจนี้ได้นั้น ล่าสุดจะไม่มีการทบทวน ยังคงห้ามคนต่างด้าวทำ เนื่องจากคนไทยยังไม่พร้อม

ส่วนอาชีพสงวนที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นั้น ที่กระทรวงแรงงงานเสนอว่าอาชีพใดที่ให้คนต่างด้าวทำได้นั้น ทางกระทรวงแรงงานได้มีการทบทวนให้ 10 อาชีพที่เปิดให้คนต่างด้าวทำได้ โดยใน 10 อาชีพนี้ มีงานในอาชีพการควบคุมและการทำบัญชีรวมไปด้วย ขั้นตอนอยู่ระหว่างการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ เพื่อหาข้อสรุปให้กับกรมการจัดการงาน กระทรวงแรงงาน เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการของคนต่างด้าวต่อไป

นางกุลณีกล่าวว่า ขณะนี้กรมได้มีการตรวจสอบชาวต่างชาติที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย โดยให้คนไทยเข้ามาถือหุ้นแทน (นอมินี) ด้วยการตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจในไทย พบว่าปีนี้มี 2 ราย โดยเป็นธุรกิจร้านอาหารและเช่ารถ อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ โดยกรมได้ส่งข้อมูลไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 


ที่มา:มติชนออนไลน์